xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ หนุนความเท่าเทียมทางเพศทุกมิติ ชมความร่วมมือเพื่อความเท่าเทียมทางสตรีประกอบธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในทุกมิติ ชื่นชมความร่วมมือระหว่าง สสว. กับ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ เพื่อความเท่าเทียมทางเพศของสตรีในการประกอบธุรกิจ

วันนี้ (7 เม.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศของสตรีในการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ เชื่อมั่นจะเป็นอีกกลไกเพื่อเพิ่มความเสมอภาคทางเพศ ส่งเสริมสตรีในธุรกิจ

โฆษกประจำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สสว. และ UN Women หารือกำหนดเป้าหมายสร้างความยั่งยืน ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) และความหลากหลาย (diversified) โดยบริษัทขนาดใหญ่กำหนดนโยบายให้โควต้าสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการ SME กลุ่มสตรี และกลุ่มเปราะบาง ได้เข้าร่วม จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งจากข้อมูลในปัจจุบันปรากฎว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างจากธุรกิจที่สตรีเป็นเจ้าของเพียงแค่ร้อยละหนึ่ง

ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จะร่วมมือกันใน 3 เรื่องหลัก ประกอบไปด้วย 1. การศึกษางานวิจัยร่วมกัน ทบทวนนโยบายที่สร้างสภาพแวดล้อมและสร้างโอกาสความเท่าเทียม ให้กลุ่มผู้ประกอบการสตรี 2. การเชื่อมโยงผู้ประกอบการสตรี เข้ากับผู้ซื้อที่เป็นองค์กรรัฐและเอกชน 3. ส่งเสริมการขยายโอกาสทางการตลาดและสร้างเครือข่ายซัปพลายเออร์ที่มีความหลากหลาย จากการลงนามในข้อตกลงนี้ จะส่งเสริมให้มีการสร้างฐานข้อมูลของสัดส่วนผู้ประกอบการสตรีในไทย นำไปสู่การออกแบบมาตรการ สร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความเท่าเทียม เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการประกอบธุรกิจ โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมกิจกรรมภายใต้โครงการ WE RISE Together

โครงการ WE RISE Together ของ UN Women ในประเทศไทยและเวียดนาม เป็นโครงการที่ขยายโอกาสทางการตลาด ให้ผู้ประกอบการสตรีผ่านการสร้างเครือข่ายซัปพลายเออร์ที่หลากหลาย โดยจะกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยและเวียดนาม สามารถนำแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความเสมอภาคทางเพศ โดยขับเคลื่อนผ่าน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ระบบนิเวศที่เข็มแข็ง 2. โมเดลและเครือข่ายธุรกิจที่ตอบโจทย์ 3. ผู้ซื้อที่มีศักยภาพยิ่งขึ้น และ 4. โอกาสทางการตลาดที่เท่าเทียมมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรี รับทราบและชื่นชมแผนการดำเนินงาน การหารือประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศของสตรีในการประกอบธุรกิจ ซึ่งความเท่าเทียมทางเพศเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอดตามหลักสิทธิมนุษยชน และตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตั้งแต่ปี 2558 เชื่อมั่นว่า กลไกที่รัฐบาลกำหนดขึ้น และกลไกจากภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ร่วมมือกันนั้น ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันความเท่าเทียมในสิทธิการประกอบธุรกิจ” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น