xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง “ปกรณ์วุฒิ” และ ส.ส.รวม 47 คน กล่าวหา “ศักดิ์สยาม” แทรกแซงการใช้จ่ายงบประมาณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จากแฟ้ม
ศาล รธน. ไม่รับคำร้อง “ปกรณ์วุฒิ” และ ส.ส.รวม 47 คน กล่าวหา “ศักดิ์สยาม” แทรกแซงการใช้จ่ายงบประมาณ ชี้ ไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภา หรือวุฒิสภา

วันนี้ (31 มี.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดี ดังนี้ เรื่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการเสนอการแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 12/2566)

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวม 47คน (ผู้ร้อง)

ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม กรณีที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้เสนองบประมาณของกระทรวงคมนาคม ผู้พิจารณา และคณะกรรมาธิการ ที่มีส่วนโดยทางตรงและทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น กรณีดังกล่าวน่าเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องใช้สถานะการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และกรรมาธิการ ใช้อำนาจในตำแหน่งดังกล่าวจัดทำหรือให้ความเห็นชอบโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐ โดยมีเจตนาพิเศษส่งผลทำให้ห้างฯ และบริษัทที่บริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทยรับงานเข้าเป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคม อันเป็นการฝ้าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง

ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม ต้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร หรือ วุฒิสภา เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการ เสนอ แปรญัตติ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือไม่

“เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้รับการพิจารณาเสร็จสิ้น และเป็นกฎหมายใช้บังคับแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(7) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย”


กำลังโหลดความคิดเห็น