วันนี้ (28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณากรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี จากเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่สุจริต ใช้ดุลพินิจยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ชอบด้วยมาตรา 103 วรรคสาม ขอให้ศาลคำสั่งระงับไม่ให้ พ.ร ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2566 มีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราว และเพิกถอน พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2566 ที่ตราขึ้นโดยไม่สุจริต
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปนั้นในมาตรา 103 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้ทำในรูปแบบของพระราชกฤษฎีกาแต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ไม่ได้ตราขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ หรือเพื่อกำหนดการอันจำเป็นแก่การดำเนินกิจการทางปกครองตามที่องค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตราขึ้นในระดับพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดต่างๆ กำหนดให้อำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาไว้ แต่เป็นกลไกในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงไม่ใช่พระราชกฤษฎีกาตามนัยมาตรา 11(2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง 2542 คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2566 จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในหลายคดีเช่น คดีหมายเลขดำที่ ฟ.5/2549 หมายเลขแดงที่ ฟ.3/2549 คดีหมายเลขดำที่ ฟ.100/2556 หมายเลขแดงที่ ฟ.12 7/2556
ส่วนที่นายเรืองไกรขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามความในมาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญเป็นคำขอที่อยู่นอกเหนืออำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญและมาตรา 9 ประกอบมาตรา 72 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ที่จะมีอำนาจและมีคำสั่งให้ตามที่ขอ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ทำให้ไม่จำต้องพิจารณาคำขอไต่สวนฉุกเฉินเป็นกรณีเร่งด่วนและไม่จำต้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการวิธีการชั่วคราวให้ระงับ พ.ร ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2566 ไม่ให้มีผลใช้บังคับไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการมีคำพิพากษา