รัฐบาลเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” เที่ยววัด ไหว้พระ ยลวัง 21-25 เมษายน 2566 รอบเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน และงานจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมไทย 76 จังหวัด ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2566 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชนกว่า 30 หน่วยงาน ได้ร่วมกันจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ณ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รวมถึงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และร่วมฉลองเนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 241 ปี พร้อมจัดกิจกรรมและจำหน่ายสินค้าวัฒนธรรมไทย 76 จังหวัด ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม ทั้งนี้ มีรูปแบบงานและกิจกรรม 8 ส่วนหลัก ได้แก่
1. พิธีทางศาสนา ประกอบด้วย วันที่ 20 เมษายน 2566 พิธีบวงสรวงเทพยดา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ และ วันที่ 21 เมษายน 2566 พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 99 รูป ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ และพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง ณ ศาลหลักเมือง
2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ ประกอบด้วย พิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ ประดิษฐานภาพพระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชสักการะ 10 รัชกาล การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชมพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night Museum), การสาธิตอาหารไทยโบราณ ในรูปแบบตลาดย้อนยุค, การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด ผลิตภัณฑ์ Cultural Product of Thailand (CPOT) ของดี 50 เขต กทม. และจุดถ่ายภาพย้อนยุคบริการประชาชน
3. สวนสันติชัยปราการ ประกอบด้วย การแสดงมัลติมีเดีย ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงอุโมงค์ไฟเรืองแสง ระหว่างวันที่ 21 เมษายน - 7 พฤษภาคม 2566 นิทรรศการสวนแสงจัดแสดงพระราชประวัติ 10 รัชกาล จัดฉายหนังกลางแปลง และการแสดงวงดุริยางค์จากเครือข่ายเยาวชนไทย
4. หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ประกอบด้วย การประกวดภาพถ่ายกิจกรรมงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ สาธิต และจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย และกิจกรรมชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร
5. มิวเซียมสยาม ประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการ และนิทรรศการ/กิจกรรมที่สอดคล้องกับการจัดงานฯ
6. วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ประกอบด้วย งานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพร ย้อนวันวาน สารพันอาหาร ย่านกะดีจีน- คลองสาน
7. พิพิธบางลำพู โดยให้เข้าชมพิพิธบางลำพูโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย, จัดกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน (ไกด์เด็กบางลำพู) เช่น Workshop งานประดิษฐ์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมเด็กและเยาวชน
8. พื้นที่จัดกิจกรรมอื่นๆ อีก 20 แห่ง โดยเปิดให้ประชาชนทำบุญไหว้พระ และเข้าชมแหล่งเรียนรู้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจัดรถ ขสมก. และรถรางนำชม บริการรับ-ส่ง ตามจุดเยี่ยมชมต่างๆ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา แหล่งท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมของไทยได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยมีทิศทางการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากรายงานสถิติผู้เข้าใช้และเข้าชมแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มากกว่า 4 ล้านคน คิดเป็นผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 62.58 นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศมีรูปแบบที่เหมือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขยายการท่องเที่ยวทั่วประเทศมากขึ้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night Museum) ในงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นอีกตัวอย่างกิจกรรมไฮไลต์ที่มีผลตอบรับที่ดีต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะจัดขึ้นตั้งแต่เวลา 16.00-20.00 น. เพื่อให้เข้าชมความงดงามของโบราณสถานภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และส่วนจัดแสดงนิทรรศการในพระที่นั่งต่างๆ พร้อมบริการอาหารค่ำ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามของกรมศิลปากร พร้อมการประดับไฟตกแต่งอย่างสวยงาม
“รัฐบาลเชื่อมั่นว่า การท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมจะเป็นอีกแนวทางสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านการเผยแพร่ประสบการณ์ สัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่นจากสถานที่จริง รวมทั้งยังสามารถต่อยอดทางการตลาดเพื่อส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนและส่งผลดีต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย” นายอนุชา กล่าว