การรถไฟฯ ฉลองสถาปนาครบรอบ 126 ปี ปล่อยขบวนรถจักรไอน้ำนำเที่ยวรุ่นหลังสงครามโลก "กรุงเทพ-อยุธยา" เดินหน้าขับเคลื่อน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับบริการ มุ่งสู่ระบบรางที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570
วันนี้ (26 มีนาคม 2566) เมื่อเวลา 07.00 น. ณ ตึกบัญชาการรถไฟ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟครบรอบ 126 ปี โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างการรถไฟฯ เข้าร่วมงาน เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่พระราชทานกิจการรถไฟให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป เปิดกรวยดอกไม้สด ถวายราชสักการะพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน อดีตผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
จากนั้น นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการรถไฟฯ เดินทางไปสักการะอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ซึ่งเป็นจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดเดินรถไฟหลวงสายแรกในสยามเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 และเป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถจักรไอน้ำนำเที่ยว ขบวนที่ 901 กรุงเทพฯ-อยุธยา ซึ่งเป็นรถจักรไอน้ำรุ่นแปซิฟิก รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ โดยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจองตั๋วโดยสารเต็มทุกที่นั่ง
นอกจากนี้ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานในพิธีมอบโล่และประกาศนียบัตร ณ สโมสรรถไฟ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานครบ 25 ปี พร้อมแหนบที่ระลึก รางวัลพนักงานดีเด่นประจำปี 2565 และรางวัลล้อปีกรถไฟเกียรติยศ ชั้น 1, 2 และ 3
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟฯ เปิดเผยว่า การรถไฟฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้เป็นระบบการเดินทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศ สามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศ โดยในรอบปีที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้ผลักดันพัฒนาโครงสร้างทางรถไฟหลายโครงการให้เกิดขึ้น และสำเร็จหลายโครงการ
เช่น การเปิดให้บริการขบวนรถทางไกลที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย ศูนย์กลางคมนาคมทางรางที่ครอบคลุมการเชื่อมต่อการเดินทาง และระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ รองรับนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางรางให้เป็นรูปแบบการเดินทางและขนส่งหลักของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพและสามารถเชื่อมโยงไปสู่ทุกภูมิภาค
ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังมุ่งเน้นการยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน หรือ Smart Organization และการพัฒนาด้านการให้บริการประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้เชื่อมโยง ครอบคลุมทั้งการเดินทางและการขนส่งแก่ประชาชนในทุกภูมิภาค เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “การเป็นผู้ให้บริการระบบรางที่ดีที่สุดในอาเซียน ใน พ.ศ. 2570” โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยยังมุ่งมั่นดำเนินการและกำกับแผนงานต่างๆ ให้มีความต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมาย โดยมีปณิธานอันแน่วแน่คือ ประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ