ผอ.สำนักอุทยานฯ ร้องศาล ปค.เพิกถอนมติ คทช.- ครม. ใช้แนวเขตสำรวจปี 43 เฉือนพื้นที่ป่าทับลาน แก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ชี้ ขัดรัฐธรรมนูญ-แผนยุทธศาสตร์ชาติ
วันนี้ (15 มี.ค.) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ายื่นฟ้อง คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คณะอนุกรรมการนโยบายแนวทางและมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่ 3/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และมติ ครม. ที่ให้ใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 และขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี 2543 ในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐซ้อนทับกัน รวมถึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสถานภาพอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยไม่ให้มีการเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติทับลาน 2524
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เห็นว่า มติ คทช. และมติ ครม.ที่เห็นชอบการใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 จะส่งผลให้มีการกันพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นจำนวน 273,310 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 19.52 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทั้งหมดขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ขัดต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าในห้วงปี 2566-2570 ร้อยละ 33 และในห้วงปี 2576-2580 ต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศและขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยการกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นการลดพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติลงร้อยละ 0.85 ของพื้นที่ประเทศ อีกครั้งยังพบว่า อนาคตจะมีการใช้แนวทางดังกล่าวในการจัดการกับปัญหาที่ดินของรัฐทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพีด้วย
“ก่อนหน้านี้ นโยบายของรัฐสั่งให้พวกผม ไปเพิ่มพื้นที่ป่าโดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ วันนี้เรามีพื้นที่ป่าเพียงแค่ 30% ในภาพรวมของกรมป่าไม้ ซึ่งการจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ตามแผนที่วางไว้ แต่ละปีเราต้องหาพื้นที่ป่าปีละ 3 ล้านกว่าไร่ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทะเลาะกับชาวบ้าน บางคนถูกยิงตายตายก็มี ถูกฟ้องร้องก็มี ซึ่งแค่จะรักษาพื้นที่ป่าที่มีอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ก็เลือดตาแทบกระเด็น แต่นโยบายของรัฐกลับมาเฉือนพื้นที่ป่าออกไป และการที่นโยบายรัฐบอกว่าต้องการเอาที่ดินให้กับราษฎร ตามมาตรา 64 ให้สิทธิตรงนี้อยู่แล้ว แต่นโยบายรัฐต่อไปคือยกที่ดินนี้ให้ ส.ป.ก. ซึ่งนโยบายของ ส.ป.ก.ก็เป็นที่รู้กันว่า เปลี่ยนทุนเป็นทรัพย์ คือ เพื่อที่จะเปลี่ยนจาก ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดิน มันมองเห็นผลอยู่แล้วว่าบริเวณนี้ 2.7 แสนล้านไร่ ที่ถูกเฉือนออกที่สุดจะกลายเป็นอะไร
โดยขณะนี้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุก 400 กว่าคดี หากเปลี่ยนไปเป็นของ ส.ป.ก. ถึงเวลานั้นรูปคดีจะเปลี่ยนทันทีเพราะพื้นที่ที่บุกรุกไม่ใช่ป่าสงวน ไม่ใช่อุทยานแล้ว ผู้ใช้ที่ถูกดำเนินคดีก็จะได้กลับมาใช้สิทธิเหมือนเดิมสุดท้ายพื้นที่นี้ก็จะสามารถนำมาแปลงเป็นโฉนดที่ดินได้ วันนี้จึงต้องมายื่นให้ศาลตรวจสอบกระบวนการ และมติดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เมื่อถามว่า หากไม่ใช้แนวทางดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนอย่างไร นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เราต้องดูว่าประเทศต้องการอะไรก่อน ถ้าบอกว่า ป่าสำคัญภัยพิบัติเกิดทีหลังเกิดมาจากการรุกป่าถ้าเรามองอย่างนี้ จะมองว่า จำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ครบ 40% แล้วเราค่อยไปโฟกัสในพื้นที่ one map ว่าป่าต้องคงอยู่ ซึ่งเราต้องเพิ่มพื้นที่ป่าปีละ 3 ล้านไร่ แต่ข้อเท็จจริง เอาแค่ปีละไร่เดียวยังไม่ได้เลย และถ้าวันนี้เราเฉือนให้เขาซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนทั้งหมด 2.7 แสนล้านไร่ แล้วอนาคตทำกับทั่วประเทศจะหายไป 4 .72 ล้านไร่ ถ้าเขาขอในป่าอนุรักษ์แบบนี้หมดจะทำอย่างไร ต้องให้เขาหรือไม่
เมื่อถามว่า รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มองเรื่องนี้อย่างไร นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ก็อยากให้สื่อไปถาม เพราะตนเองก็อยากรู้ว่าท่านว่ามีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร