xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุ ครม.อนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้!

วันนี้ (15 มี.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ว่า ครม.อนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระและหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศต่างๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 โดยกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาทิ

1. ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ (Double Criminality) และเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี
2. ผู้ประสานงานกลางของฝ่ายไทยตามสนธิสัญญานี้ คือ อัยการสูงสุด และฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย คือ สำนักงานอัยการสูงสุด
3. ภาคีที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมืองและความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดต่อประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และการกระทำหรือการละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง
4. ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีเหตุต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของภาคีแต่ละฝ่าย อาทิ ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ
5. ภาคีที่ได้รับการร้องขอ สามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือภาคีที่ได้รับการร้องขอกำลังดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวในความผิดนั้นอยู่
6. สนธิสัญญานี้ไม่กำหนดให้คู่ภาคีมีพันธกรณีใดๆ ที่จะต้องส่งคนชาติของคนข้ามแดน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการปฏิเสธการส่งคนชาติข้ามแดน ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไป เว้นแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อฟ้องคดี
7. กรณีเร่งด่วน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอให้มีการจับกุมตัวชั่วคราว (Provisional Arrest) บุคคลที่ต้องการ เพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้
8. ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการแบบย่อ (Simplified procedure) ในกรณีที่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลแห่งภาคีที่ได้รับการร้องขอ
9. กรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ให้ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศใด โดยนำเหตุผลดังต่อไปนี้มาพิจารณาทั้งหมด 1) ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย 2) สัญชาติของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 3) เวลาและสถานที่กระทำความผิด 4) ความร้ายแรงของความผิด 5) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ
10. กำหนดหลักการว่าบุคคลที่ถูกส่งตัวไป จะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
11. กำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งมอบตัวบุคคลในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
12. ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและการดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากร่างสนธิสัญญาไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง


กำลังโหลดความคิดเห็น