โฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติปรับแผนการดำเนินงาน โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อน ศก.ประเทศ ในกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)
วันนี้ (8 มี.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 มีมติอนุมัติปรับแผนการดำเนินงาน และแผนเบิกจ่ายโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) กิจกรรมย่อยที่ 3 การร่วมก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ฯ (Asia Direct Cable: ADC) จากเดิมสิ้นสุดปี 2565 เป็นสิ้นสุด ปี 2567 พร้อมเห็นชอบในหลักการขยายความจุเพิ่มเติมของระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC จากเดิม 200 Gbps (กิกะบิต/วินาที) เป็นไม่เกินสิทธิการใช้วงจรทั้งหมด (เบื้องต้นที่ประมาณการ 9,000 กิกะบิต/วินาที) และให้ความจุเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของ NT
กระทรวง ดส. รายงานว่า การขยายระยะเวลาดำเนินงานดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณในการร่วมก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 กันยายน 2563) จำนวน 2,180 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน การร่วมก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ฯ ดำเนินการแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 79 โดยส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 21 อยู่ในแผนการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2566 และ 2567 โดยเมื่อก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่แล้วเสร็จ ไทยจะได้รับสิทธิการใช้งานวงจร จำนวน 9,000 กิกะบิต/วินาที ตามสิทธิการใช้งาน วงจรของประเทศไทย ซึ่ง บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม การขยายความจุของสิทธิการใช้งานเบื้องต้นมากกว่า 200 กิกะบิต/ วินาที ไทยต้องแจ้งแก่ภาคีสมาชิกเพื่อลงทุนในอุปกรณ์รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวให้ทันกับการเปิดใช้งานโครงข่ายต่อไป ซึ่งหากเกินกรอบวงเงินงบประมาณของโครงการฯ ตามที่ คณะรัฐมนตรีเคยให้ความเห็นชอบ ก็ต้องใช้งบประมาณของ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ โดยความจุที่ขยายดังกล่าว จะให้เป็นสินทรัพย์ของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป