“ชัยวุฒิ” ร่วมแลกเปลี่ยน-รับฟังเสียงเด็กชายแดนใต้ ถึงมุมมองเกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ชวนร่วมผลักดัน กม.รับรองให้ถูกต้อง เซ็งสังคมดัดจริต ผู้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นทางเลือกคนอยากเลิกบุหรี่จริง หวังดัน กม.เปลี่ยนส่วนเป็นภาษี ตัดวงจรตลาดใต้ดิน
วันนี้ (8 มี.ค.) ที่ห้องประชุมกานเฉ่า คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ได้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการบุหรี่ไฟฟ้ากับอนาคตของประเทศ จัดโดยสมาคมสื่อ MEDIA ASSOCIATION FOR SOCIETY OFFICE ร่วมกับคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มี อาจารย์อับดุลฮาลีม อาแด อาจารย์ประจำสาขาการสอนอิสลามศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นผู้นำบรรยาย และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านทางวิดีโอคอล ร่วมกับเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 60 คนที่เข้าร่วมกิจกรรม
โดย นายชัยวุฒิ ได้กล่าวว่า ตนเองได้ติดตามมามาพอสมควรช่วงที่เข้ารับตำแหน่ง รมว.ดีอีเอส ในช่วงแรกที่ได้มีการดำเนินคดีกับสิ่งผิดกฎหมายบนออนไลน์ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี บุหรี่ไฟฟ้า พบว่า การจำหน่ายในช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมากรวมอยู่ด้วย ต่อมาเมื่อได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนกับประชาชนกลุ่มต่างๆ จึงพบว่า มีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ในประเทศไทยจำนวนมาก โดยมีคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่จริง และจากการพิสูจน์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น มีการอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกฎหมายได้ แต่ในประเทศไทยยังผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่ขัดกับวิถีชีวิตและหลักสากล ทำให้ควบคุมได้ยากมาก จึงคิดว่าควรทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ระยะหลังคนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่เชื่อว่าบุหรี่มวนอันตราย และไม่อยากสูบบุหรี่จริง ที่สำคัญ มีการลักลอบขายกันอย่างกว้างขวางอยากเห็นงานสัมมนาครั้งนี้หารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยดูว่ามีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง เพื่อรวบรวมความเห็นจากหลากหลายกลุ่ม ในการพัฒนาเป็นกฎหมายที่คุ้มครองวิถีชีวิตคนไทยต่อไป
“คิดว่าเป็นเรื่องที่ ดัดจริต ที่ว่าสูบไม่ได้ แต่ก็เห็นสูบกันกันทั่วไป” นายชัยวุฒิ ระบุ
นายชัยวุฒิ ยังได้เน้นย้ำด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่คิดว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่จริงก็ให้พวกเขาได้ใช้ ซึ่งมีจำกัดทางกฎหมาย ทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาเปลี่ยนส่วยเป็นภาษีได้ ในขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย แต่เราสูบอย่างอื่นได้มีหลายอย่างที่อันตรายกว่า ทั้งที่บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า กลับไม่ให้บริโภค ทางรัฐบาลและตนเองก็เห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างในประเทศไทยมีข้อจำกัด เรื่องกฎหมายที่ล้าสมัย นำมาปฏิบัติจริงไม่ได้ ขัดกับวิถีชีวิตของประชาชน การสัมมนานี้จะช่วยให้เกิดประเด็นในสังคมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ด้าน นายอับดุลวาริส โลงซา ประธานสมาคมสื่อ MEDIA ASSOCIATION FOR SOCIETY OFFICE กล่าวว่า อยากเปิดพื้นที่ให้เยาวชนมาพูดคุยในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเห็นถึงมุมมองของผู้เข้าร่วมโครงการและมุมมองของรัฐบาลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างภูมิคุ้มกันต่อเยาวชน เพราะปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทต่อเยาชนเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากๆ และทิศทางในมุมอนาคตของเยาวชนกับประเทศชาติ ทั้งประเด็นข้อกฎหมายการขายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายนั้น ในมุมมองของเยาวชน นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ภาคใต้นั้นเป็นเช่นใด และประเด็นข้อเท็จจริงจุดยืนในเรื่องหลักการของศาสนาอิสลามนั้นเป็นอย่างไร
“บุหรี่ถือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม (ฮารอม) สำหรับชาวมุสลิมรวมถึงหมวดหมู่ที่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย เพราะถือเป็นการนำสิ่งที่อันตรายเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงห้ามมุสลิมจึงต้องทำตาม” นายอับดุลวาริส ระบุ
สำหรับโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการบุหรี่ไฟฟ้ากับอนาคตของประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ถึงประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ทั้งในด้านของกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และหารือแนวทางของบุหรี่ไฟฟ้าในอนาคตต่อไป