รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เข้มกวาดล้างยาเสพติด เห็นชอบโครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือเพื่อนบ้านยุติแหล่งผลิตและทำลายเครือข่ายระหว่างประเทศ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ทุ่ม 16 ล.ควบคุม-สกัดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
วันนี้ (7 มี.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการยุติแหล่งผลิตยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อร่วมกันควบคุมและสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำโครงการ ภายใต้เอกสารข้อตกลง (Letter of Agreement : LoA) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและการควบคุมยาเสพติดระหว่าง สนง.ป.ป.ส. กับหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสกัดกั้นยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางภายนอกประเทศมิให้เข้าสู่แหล่งผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและสกัดกั้นยาเสพติดจากแหล่งผลิตที่จะออกสู่ไทยและประเทศอื่นๆ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการลดผลกระทบต่อสถานการณ์ยาเสพติดภายในไทยโดยตรง โดยในห้วงปี 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมคดีรายสำคัญและตรวจยึดยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ได้รวม 1,093 คดี ผู้ต้องหา 1,885 ราย ยาบ้า 593.6 ล้านเม็ด ไอซ์ 23.5 ตัน กัญชา 27.9 ตัน เฮโรอีน 1.2 ตัน เอ็กซ์ตาซี 1.98 ล้านเม็ด คีตามีน 8.5 ตัน นอกจากนี้ยังสามารถลดทอนศักยภาพการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำได้อย่างเป็นรูปธรรมสามารถตรวจยึดสารตั้งต้นได้ 130 กิโลกรัม และเคมีภัณฑ์ 335.4 ตัน
โครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการยุติแหล่งผลิตยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2566 ด้วยงบประมาณจำนวน 16 ล้านบาท สำหรับประเทศเมียนมา 3.85 ล้านบาท ลาว 5.46 ล้านบาท กัมพูชา 2.69 ล้านบาท และเวียดนาม 4 ล้านบาท โดยรายละเอียดโครงการ สรุปได้ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ 4 ด้านหลัก คือ 1. เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการสกัดกั้น ปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 2. เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทย และ เวียดนาม ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน 3. เพื่อพัฒนาบุคลากรและระบบการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และ 4. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการร่วมกันควบคุมปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
2. กรอบการดำเนินการ 5 ด้าน คือ 1. ส่งเสริมการปราบปราม และสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ โดยชุดปราบปรามของประเทศเพื่อนบ้านตามจุดตรวจ จุดสกัด ตามเส้นทางคมนาคมแนวชายแดนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น 2. การสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ และการบำรุงรักษาเครื่องมือ เพื่อเพิ่มและพัฒนาศักยภาพของชุดปฏิบัติการปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติด 3. การพัฒนาการเสริมสร้างศักยภาพ โดยการฝึกอบรมบุคลากรและเจ้าหน้าที่เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบทบาทไทยในการดำเนินการเชิงรุกซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการแก้ไขปัญหายาเสพติด 4. การป้องกันยาเสพติด โดยส่งเสริมหมู่บ้านคู่ขนาน/หมู่บ้านสีขาวตามแนวชายแดน ไทย-ลาว/ไทย-กัมพูชา เพื่อควบคุมสกัดกั้นและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทำให้บ้านคู่ขนานปลอดจากปัญหาอาชญากรรมต่างๆ เช่น การลักลอบ ค้ายาเสพติด ค้าสิ่งผิดกฎหมาย ในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ และ 5. การบริหารการจัดการ และการดำเนินการศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (ศูนย์ประสานงานฯ) ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง 4 ประเทศในแนวทางเดียวกัน พัฒนาระบบฐานข้อมูลและการรายงานผลความคืบหน้าในการปฏิบัติงานร่วมกัน
“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้าต่อเนื่องโครงการนี้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในโครงการเชิงยุทธศาสตร์ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในประเทศประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยนอกจากจะช่วยยกระดับปฏิบัติการด้านการข่าวและการสืบสวนสอบสวนทำให้การแพร่ระบาดของยาเสพติดลดลงแล้ว ยังจะส่งผลให้ชุดปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศเพื่อนบ้านมีศักยภาพในการทำลายแหล่งผลิต สกัดกั้น และปราบปรามการลักลอบผลิต ค้า และลำเลียงยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น เป็นยุทธศาสตร์เพิ่มความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว