เชียงราย - ชาวบ้านประกาศ “พื้นที่ปลอดภัยบ้านนาก” ลุ่มน้ำอิง..หลังพบ “นากยุโรป” แพร่พันธุ์อยู่กันเป็นฝูง ขณะที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตผนึกภาคีเครือข่ายเร่งสำรวจเพิ่มตั้งแต่ต้นน้ำกว๊านพะเยา-เชียงของ ก่อนไหลลงโขง วางแผนอนุรักษ์ร่วมพื้นที่ชุ่มน้ำ
สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ซึ่งได้ร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านในการอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำลุ่มแม่น้ำอิง ที่ไหลมาจาก จ.พะเยา-เชียงราย ได้เก็บข้อมูลและใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ตามริมฝั่งแม่น้ำอิงพื้นที่ ต.สันมะค่า อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ต้นปี 2566 นี้ ปรากฏว่าสามารถบันทึกภาพ "นาก" อาศัยและหากินอยู่ริมฝั่งเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นจึงได้ร่วมกับห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ ศูนย์วิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และชาวบ้าน 15 ชุมชนลุ่มแม่น้ำอิง ทำการฝึกอบรมจรรยาบรรณการทำวิจัยสัตว์ป่า เทคนิคการติดตั้งกล้อง Camera trap การเก็บมูลนาก ตั้งแต่ปากแม่น้ำอิง ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปจนถึงต้นน้ำกว๊านพะเยา จ.พะเยา เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมหรือ DNA
ซึ่งผลการตั้งกล้องและเก็บมูลนากจำนวน 48 ตัวอย่าง และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการฯ พบว่านากที่พบเป็นพันธุ์ "นากใหญ่ธรรมดา" หรือนากยุโรป (Lutra lutra) ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมสายแม่ (mtDNA haplotype) 8 รูปแบบ โดยพบมากในพื้นที่ริมน้ำเขตหมู่บ้านวังศิลา จึงประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและพื้นที่ปลอดภัยบ้านนากแล้ว
นายม้วน ไชยราช ชาวประมงบ้านวังศิลา ต.สันมะค่า อ.ป่าแดด จ.เชียงราย กล่าวว่าพื้นที่บ้านวังศิลามีแม่น้ำอิงและแม่น้ำสาขาไหลผ่าน ดังนั้นจึงมีความอุดมสมบูรณ์ มีปลาหลากหลายพันธุ์ ทั้งยังพบสัตว์ประเภทนากอีกไม่ต่ำกว่า 30 ตัว ซึ่งเป็นนากพันธุ์ยุโรป ที่จะมีขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่นในประเทศไทย โดยมีความยาวประมาณ 50-70 ซม.และมีหางยาว 35-50 ซม. น้ำหนักมากที่สุดเท่าที่พบคือตัวละประมาณ 7 กิโลกรัม ขนสีน้ำตาลอ่อนหรือเทา ลักษณะนิสัยเป็นสัตว์ชอบอาศัยอยู่เป็นกลุ่มหรือฝูง อาหารที่กินคือปลา กุ้ง หอย ฯลฯ
นอกจากนี้ ในหมู่บ้านใกล้เคียงที่ยังไม่สำรวจก็พบนากจำนวนมากเหมือนกัน ทำให้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาเพราะตามปกติเป็นเรื่องยากที่จะพบนากเป็นฝูงอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าริมฝั่งน้ำเช่นนี้
ขณะที่นายคำพัน วิเศษภักดี ชาวบ้านวังศิลาซึ่งเป็นเครือข่ายของสมาคมฯ กล่าวว่านากและปลาบางชนิดหาได้ยากแล้วในปัจจุบันและบางอย่างก็ใกล้สูญพันธุ์ แม้แต่ตนก็เพิ่งพบว่ามีนากจำนวนมากจากภาพที่ถ่ายได้
“นากถือว่าเป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix 1) ของอนุสัญญาไซเตส ซึ่งแม้แต่ลุ่มแม่น้ำโขงก็ยังพบกระจัดกระจายหรือน้อยมาก แต่กลับมาพบอยู่กันเป็นฝูงที่ลุ่มน้ำอิง โดยเฉพาะที่ ต.สันมะค่า อ.ป่าแดด จ.เชียงราย เรายิ่งต้องอนุรักษ์ไว้”
นายไกรทอง เหง้าน้อย เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า หลังพบนากอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำอิงเป็นจำนวนมาก ทางสมาคมก็ได้ประสานกับทางชุมชนทำการติดตั้งกล้องเพิ่มเติมดพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่และอื่นๆ เพราะในอดีตเราไม่มีข้อมูลว่ามีนากอาศัยอยู่ในพื้นที่แม่น้ำอิงตอนกลางมาก่อน พอนำกล้องดักถ่ายไปติดตั้งในแต่ละจุดต่างก็จับภาพของนากชนิดนี้ได้ทุกตัว ดังนั้นจึงมีการอนุรักษ์เพื่อให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ การอนุรักษ์ดังกล่าวจะควบคู่ไปกับการที่สมาคมฯ ได้ร่วมกับชุมชนลุ่มแม่น้ำอิง 7 ชุมชน ผลักดันขอขึ้นทะเบียนลุ่มน้ำอิง 26 แปลง เนื้อที่ 8,000 กว่าไร่ ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติด้วย