หนองคาย - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ของไทย และกรมป่าไม้ สปป.ลาว ยกระดับปัญหาค้าสัตว์ป่าตามแนวชายแดนเป็นปัญหาใหญ่ต้องเร่งแก้ไข เห็นพ้องปรับทัศนคติประชาชนเลิกบริโภคสัตว์ป่าช่วยลดการลักลอบค้าได้มาก ดันกฎหมายจัดการขบวนการลักลอบให้เป็นรูปธรรมร่วมกันสองฝั่งไทย-ลาว
วันนี้ (23 ก.พ. 66) เวลา 09.15 น. นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายสุชาติ ไซยะกุมาร อธิบดีกรมป่าไม้ สปป.ลาว, นางสาวโลวิตา รุมกุตตี (Ms. Lovita Rumguttee) ผู้แทน United Nations Development Programme (UNDP) และนายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้นำคณะประชุมทวิภาคีประเทศไทย-สปป.ลาว ด้านความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า ที่ห้องประชุมโรงแรมรอยัลนาคารา อ.เมืองหนองคาย โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลความก้าวหน้าของนโยบายและการดำเนินงานด้านการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย สถานการณ์การลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในประเด็นความเสี่ยงจุดล่อแหลม ชนิดพันธุ์ และเส้นทางการลักลอบ
โดยเฉพาะ งาช้าง นอแรด เสือโคร่ง และตัวนิ่ม รวมถึงร่วมกันวางแนวทางในการทำงานร่วมกันในการป้องกันการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายระหว่างชายแดนไทย-ลาว ก่อนจะมีการลงนามความร่วมมือของทั้งสองประเทศ
นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์การลักลอบค้าสัตว์ป่าชายแดนยังคงมีอยู่ และต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกัน ในกรณีตัวอย่างเดียวกันให้สามารถเชื่อมโยงกันเพราะที่ผ่านมายังมีการลักลอบค้าขายกันอยู่ สิ่งสำคัญคือต้องลดความต้องการบริโภคสัตว์ป่า ถ้าทำได้จะทำให้การลักลอบลดลง ส่วนผู้ที่นำมาขายต้องเปลี่ยนอาชีพ หากสามารถเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันทั้งสองประเทศจะเกิดความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายที่ทั้งสองประเทศยังมีอยู่
ทำให้การดำเนินคดีทำได้อย่างรวดเร็ว ส่วน UNDP เป็นพาร์ตเนอร์ให้ไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญในการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าได้สูญพันธุ์ หรือไซเตส โดยได้รับเงินจัดสรรจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกให้ดำเนินโครงการ โดยมี UNDP เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของแต่ละประเทศ เมื่อประเทศไทยดำเนินโครงการกับ UNDP ได้ในระดับหนึ่งก็จะขยายผลกับ สปป.ลาว ให้เห็นผลชัดเจนมากขึ้น
การประชุมในครั้งนี้จะได้เห็นว่าฝ่ายลาวต้องการอะไร ทางไทยจะช่วยเสริมได้อย่างไร หากทำได้มีประสิทธิภาพก็จะช่วยแก้ปัญหาความยากจน ความอดอยากหิวโหย และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการแสดงจุดยืนของประเทศไทยที่มุ่งแก้ไขปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่าให้นานาประชาคมโลกได้เห็นถึงความเอาจริงเอาจัง ในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการประชุมทวิภาคีไทย-มาเลเซีย ในลักษณะนี้ด้วย
ด้านนายสุชาติ ไซยะกุมาร อธิบดีกรมป่าไม้ สปป.ลาว กล่าวว่า ลาวและไทยเป็นสมาชิกขององค์การไซเตส ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลทั้งสองประเทศเอาใจใส่ โดยมีการกำหนดกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการค้าขายสัตว์ป่านั้นนำไปสู่การแก้ไข ที่ผ่านมามีความร่วมมือระดับท้องถิ่น ระหว่างจังหวัดกับแขวง ปัจจุบันเป็นระดับมหภาคขึ้นมาแล้ว การแก้ไขปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่าตามแนวชายแดนต้องมีการประสานร่วมกัน แต่ละประเทศจะมีเครือข่ายการทำงานของตัวเอง
หากมีการประสานงานร่วมกันก็จะมีแผนงานและมาตรการที่ชัดเจนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งลาวและไทยเห็นตรงกันว่าปัญหาหลักคือวิถีชีวิตประชาชนที่ยังนิยมบริโภคสัตว์ป่า ต้องทำความเข้าใจและขอความร่วมมือ