“สมศักดิ์ เจียม” เปรียบการ “อดอาหาร” เรียกร้องปล่อยผู้ต้องหาการเมืองทั้งหมด ทุกพรรคต้องมีนโยบายยกเลิก ม.112-116 ของ “ตะวัน-แบม” เหมือน “ฆ่าตัวตาย” ชี้ คนที่ไม่เห็นด้วย แต่อำนวยความสะดวก ต้องถามตัวเอง มีส่วนแค่ไหน?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (28 ก.พ. 66) เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดี ม.112 ลี้ภัยในฝรั่งเศส โพสต์ภาพข่าว พร้อมข้อความระบุว่า
“เมื่อวานนี้ ทนายด่างให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าตัวยืนยันตามเดิม
ถ้าทนายด่างและคนอื่นๆ ทั้งหมด ทำตามที่ตัวเองพูด คือ ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย #และไม่ให้ความช่วยเหลือทั้งมวล “ตะวัน-แบม” จะสามารถทำเพียงลำพังได้หรือ?
ครั้งนี้ที่ยืดเยื้อมาถึงตอนนี้ เพราะทุกคนพูดว่า “ไม่เห็นด้วย” #แต่ก็อำนวยความสะดวกทุกอย่าง โดยความเป็นจริง คนสองคนไม่สามารถ “ฆ่าตัวตาย” ตามลำพังได้
ถ้าครั้งนี้ ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่ไม่มีใครต้องการ ทุกคนต้องถามตัวเองว่า มีส่วนแค่ไหน?”
ขณะเดียวกัน ที่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา ฝั่งประตูที่ 3 ถนนราชดำเนินใน พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) พร้อมด้วย ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนของกลุ่มงานศูนย์ส่งกลับ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เดินทางมาขอตรวจร่างกาย ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมทางการเมืองที่ทำกิจกรรม “นอนปักหลักอดอาหารหน้าศาลฎีกา”
พ.ต.ต.นพ.ปีเฉลิม พิสนุแสน แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินหน่วยส่งกลับโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ทีมแพทย์ประเมินแล้วว่า ทั้งสองอยู่ในขั้นวิกฤต และผลเลือดมีค่าความเป็นกรดสูง มองว่า ถ้าปล่อยให้ทั้งสองอดอาหารต่อไปเสี่ยงต่อการมีภาวะไตวาย ตับวาย ทุพพลภาพ ดังนั้น ทีมแพทย์จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเดินทางมาเพื่อดูว่าจะช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างไรได้บ้างเพื่อให้ทั้งสองคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และหากทั้งคู่ประสงค์เดินทางไปโรงพยาบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยินดีที่จะอำนวยความสะดวก ในเบื้องต้นจากการประเมินผ่านภาพที่เผยแพร่จากสื่อต่างๆ ทั้งคู่มีความอ่อนเพลียประมาณร้อยละ 50 เท่าที่มองขณะนี้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน เพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้ จึงประเมินเบื้องต้นว่าร่างกายทั้งสองคนไม่สามารถรับไหว ต้องเข้ากระบวนการรักษา
พ.ต.ต.นพ.ปีเฉลิม กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้บังคับว่าทั้งสองจะต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ หากประสงค์ไปโรงพยาบาลใดก็พร้อมประสานงานให้ แต่ถ้าอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วต้องไปที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด
จากนั้น นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า ทั้งสองคนต้องการทราบเหตุผลว่าเป็นแพทย์จากหน่วยงานใดและได้รับอนุมัติจากทั้งสองให้เข้าตรวจร่างกายหรือยัง เพราะทั้งสองมีสิทธิในร่างกายของตัวเอง ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ด้าน พ.ต.ต.นพ.ปีเฉลิม จึงตอบกลับว่า ทีมแพทย์มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ดูแลประชาชนทุกมิติ การเข้าไปตรวจร่างกายในวันนี้จะขออนุญาตก่อน จะไม่ทำโดยพลกาล และหากไม่ได้รับอนุญาต ทางทีมจะไม่เข้า และจะขอให้ทนายเป็นผู้ประสานให้
ผู้สื่อข่าวสอบถามทนายความว่า ปัจจุบันอาการป่วยของตะวัน และแบม มีผู้มาดูแลให้หรือไม่ นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า อาการแต่ละวันมีการตรวจอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่ส่วนตัวอยากให้ทั้งสองกลับเข้าสู่กระบวนการรักษา
ต่อมาเวลา 15.30 น. นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ขณะนี้ตะวันและแบม ยินยอมให้ทีมแพทย์เข้าไปตรวจสอบอาการเบื้องต้น แต่ให้เข้าไปแค่ 1 คน ไม่ยินยอมที่จะให้เจาะเลือด วัดความดัน หรือทำหัตถการใดๆ เพราะว่าพอมีประสบการณ์จากหมอที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในการดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้ว ส่วนสาเหตุที่ยอมเพราะเห็นว่า แพทย์มีน้ำใจเข้ามาตรวจ แต่ไม่ต้องการเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ทั้งนี้ หลังจากผ่านไป 30 นาที นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ตนขอเป็นคนรายงานอาการป่วย เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยได้ เพราะเป็นหลักจรรยาบรรณแพทย์ ตนในฐานะญาติจึงขอทำหน้าที่ ทั้งนี้ แพทย์ได้ให้ความรู้การดูแลผู้ป่วย ว่า ไม่ควรอดอาหารต่อเนื่องจากมีอาการอ่อนเพลีย ขาดน้ำ อาการแต่ละวันจะไม่คงตัว เนื่องจากเป็นลักษณะของอาการขาดสารอาหาร แต่ว่ายังมีการรับรู้ โต้ตอบได้ ที่ผ่านมาตนเองและครอบครัวแนะนำตะวันและแบมว่า ให้พิจารณาวิธีการต่อสู้เห็นความสำคัญชีวิตตัวเอง จากที่พูดคุยทั้งสองมีท่าทีสบายใจขึ้น หลังจากมีกระแสข่าวว่าจะสลายจุดที่ทำกิจกรรม ทั้งนี้ทีมแพทย์จากการตรวจเยี่ยมไปประเมินเพื่อเตรียมเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อเตรียมพร้อมรักษาในอนาคต
นายกฤษฎางค์ กล่าวต่อว่า หากทั้งสองเข้าสู่สภาวะวิกฤตสามารถประสานโรงพยาบาลตำรวจได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อส่งไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่ถ้าอยู่ในจุดฉุกเฉินสามารถร้องขอเฮลิคอปเตอร์ให้มารับตัวได้
ขณะที่ พล.ต.ต.อัฏธพร กล่าวว่า ตำรวจประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร โดยมีสำนักงานเขตพระนครเข้ามาดูแลเรื่องความสะอาด กวาดขยะในพื้นที่ชุมนุม ยืนยันไม่มีการใช้กำลังเข้ามากดดันผู้ทำกิจกรรมแต่อย่างใด ไปที่การเตรียมพร้อมดูแลมากกว่า ส่วนที่มีผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างสถานการณ์ ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจัดกำลังเข้ามาดูแลเพิ่มเติมแล้ว
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า เจ้าหน้าที่จะเข้าสลายการชุมนุมบริเวณดังกล่าวเนื่องจากมีการเขียนป้ายระบุข้อความหมิ่นศาล มีรายงานว่า เป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการให้จุดพักของตะวัน และ แบม รวมถึงผู้ชุมนุมขยับไปที่ด้านหลังของอาคารศาลฎีกา เพื่อให้มีร่มเงา หลบแดดได้
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ความเห็นของ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ที่แม้จะเห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ “ตะวัน-แบม” อดอาหารประท้วง ตลอดจนคนในขบวนการ “สามกีบ” ทั้งหลาย ที่ปากบอกไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่พยายามขัดขวาง ห้ามปราม แถมหลายคนยังมีความเห็นในเชิงยกย่องในวีรกรรมอีกต่างหาก รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้การต่อสู้ด้วยวิธีนี้ดำเนินต่อไป ซึ่งถ้าผลลัพธ์ออกมาอย่างที่ไม่มีใครต้องการ ก็เท่ากับคนที่ไม่ห้าม ไม่ขัดขวาง แถมยกยอ ยุยง ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยหรือไม่?
ความจริง ประเด็นก็คือ ไม่ควรมีเหตุการณ์ คนสองคน มาเสียสละพลีชีพต่อสู้ เพื่อ “อีแอบ” จำนวนมากที่รอฉกฉวยผลประโยชน์ และอยู่ใต้ชายกระโปรง นั่นเอง!?