“ขู่ไว้ก่อน”? “ทนายอานนท์” ปลุกม็อบ หาก “ฝ่ายค้าน” ไม่ประนีประนอม “อำนาจเก่า” ยืนยันตั้งรัฐบาลตามเสียงประชาชนเกินครึ่งสภา เตรียมพร้อมปกป้อง “นิพิฏฐ์” เปรียบ “ปิยบุตร” ดั่ง “ไฟ” ให้ “แสง-อบอุ่นยามหนาว” และเผาไหม้ แม้ตนเอง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (14 ก.พ. 66) นายอานนท์ นำภา ทนายความ และแกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“กระแสพรรคเพื่อไทย คล้ายๆ ปี 2562 ต่างกันตรงที่ปี 2562 เพื่อไทยไม่ได้ส่ง ส.ส.ลงทุกเขต
ปี 2566 เพื่อไทยส่งลงทุกเขต จำนวน ส.ส.น่าจะได้มากขึ้นและมาเป็นอันดับ 1 อย่างไม่ต้องสงสัย ก้าวไกล กระแสพรรคมาแรงพอสมควร แต่ ส.ส.เขตคงต้องหืดขึ้นคอ บางเขตอาจตัดคะแนนกับเพื่อไทย
ผมว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมกันน่าจะ 300+ ปัญหาจึงน่าจะเกิดขึ้นตรงที่ เพื่อไทยจะประนีประนอมกับอำนาจเก่าหรือไม่ ถ้าประนีประนอมก็จับมือกับพรรครัฐบาลตอนนี้ แล้วได้คะแนนจาก ส.ว. ตั้งรัฐบาล
*** ความเข้มข้นจะเกิดตรงที่ ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ประนีประนอมกับอำนาจเก่า ร่วมกันยืนยันเสียงประชาชนที่เลือกมาเกินครึ่งสภานี่แหละ เมื่อนั้นแรงกดดันจะสวิงกลับมาที่การเมืองนอกสภาด้วย คนที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม ถ้าไปถึงจุดนั้น”
ขณะเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า
“*ผมไม่รังเกียจนักวิชาการ
- อ่านข่าว อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ในช่วงปี 2566 ที่มีการเลือกตั้ง จะถอนตัวจากการเมือง (แบบการเลือกตั้ง) เข้าสู่บทบาทของนักวิชาการนิติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง
- ผมมีความเห็น และ มีความรู้สึกส่วนตัว 2 เรื่อง
1. ดีใจที่ท่านจะผลิตผลงานทางวิชาการทางนิติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ผมเห็นว่า ท่านเป็นนักวิชาการที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการคนหนึ่ง หลายปีมาแล้ว ผมเคยคุย และเคยร่วมแสดงความเห็นกับท่านในบางโอกาส เห็นว่า ท่านเป็นคนน่าสนใจ
2. ตามข่าว ท่านไปบรรยายที่คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ตามคำเชิญของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ก็ตามหัวข้อที่ รศ.ปรีชา เขากำหนดนั่นแหละ เกี่ยวกับพระราชอำนาจ อะไรประมาณนั้น รศ.สมชาย ถ้าเป็นรถก็วิ่งกินขวา หรือ กินซ้ายอย่างเดียว ประเภทที่จะวิ่งให้ตรงทางนั่นอย่าหมาย วาทศิลป์ ความแหลมคมยังน้อย ความเห็นท่านจึงไม่โดดเด่น (ความเห็นส่วนตัวนะ)
- เมื่อ อ.ปิยบุตร ประกาศตัวเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย ผมก็วิจารณ์ท่านในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย (ตัวเล็กมาก) และผมเป็นนักการเมืองมาก่อน แม้ปัจจุบันผมอาจมีความเป็นนักการเมืองอยู่เพียงเล็กน้อยก็ตาม เห็นว่า อ.ปิยบุตร เปรียบเหมือนไฟที่สามารถให้ความอบอุ่นในยามหนาวได้ดีทีเดียว แต่หากเข้าใกล้เกินไปจะร้อน และอาจเผาไหม้ตัวเองและเผาไหม้คนอื่นได้ ผมอยากให้ท่านเป็นเพียงไฟที่ให้แสงสว่าง และ ให้ความอบอุ่นในยามหนาว แต่ไม่อยากให้ท่านเป็นไฟที่ร้อนจนเผาไหม้ตัวเองและสิ่งใกล้ตัว
- ผมนี่ไม่เคยปฏิเสธความเห็นทางวิชาการ ช่วงนี้ผมมีเวลาว่างเยอะ นอกจากดูหนัง-ฟังเพลงแล้ว ผมยังติดตาม อ.ปิยบุตร อยู่นะครับ แม้บางเรื่องร้อนแรงเกินไป ผมไม่เข้าใกล้ แต่บางเรื่องก็เป็นอาหารสมองอย่างดี เชื่อเถอะผมกินอาหารครบ 5 หมู่ และดูทีวีทุกช่องครับ
- ที่เขียนนี่ ผมให้กำลังใจนะ/”
แน่นอน, ประเด็นที่น่าคิดและน่าสนใจ ก็คือ สถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะ “การจัดตั้งรัฐบาล” หลังจากมีการส่งสัญญาณมาจาก ส.ว.บางส่วนแล้วว่า กรณีโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องใช้เสียงทั้ง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันเกินครึ่งของทั้งสองสภา จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น “ส.ว.” มีหลักการในการ “โหวต” เลือกโดยยึดคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” มากกว่า เลือกใครก็ได้ ที่พรรคการเมืองยัดชื่อเข้ามา แม้จะชนะแบบแลนด์สไลด์ “ส.ว.” ก็พร้อมแลนด์สไลด์กลับ เพราะ “ตำแหน่งนายกฯ” ไม่ใช่ของเล่นใคร หรือ ตระกูลใด แต่เป็นหน้าตาของประเทศ
โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า “ส.ว.” ส่วนใหญ่ในจำนวน 250 คนนั้น มาจากการแต่งตั้งของ “คสช.” และเชื่อว่า เป็นไปได้สูง ที่จะเลือก “นายกรัฐมนตรี” จากฝ่ายอำนาจปัจจุบัน หรือ “อำนาจเก่า” นั่นเอง
ดังนั้น การออกมาแสดงท่าทีและปลุกม็อบของ “ทนายอานนท์” ก็ไม่ต่างกัน และเห็นได้ชัดว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็เตรียมเครื่องมือ “ต่อรอง” เอาไว้แล้ว หากพวกเขาได้ที่นั่ง ส.ส.เข้ามาจำนวนมาก และรวบรวมเสียงได้เกินครึ่งของสภา
จึงน่าจับตามองว่า พลังกดดันนอกสภา (ม็อบ) จะทำให้ “ฝ่ายการเมือง” หวั่นไหวได้มากน้อยแค่ไหน หรือ พรรคฝ่ายค้านบางพรรค จะชิง “จูบปาก” ฝ่ายอำนาจเก่าหลังเลือกตั้ง ก็ไม่แน่เหมือนกัน?