xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” นำ “ประชาธิปัตย์” สู้ศึกเลือกตั้ง มั่นใจปักธง “ฝั่งธน” ชี้จำต้องยอมรับกติกา รธน.ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” นำ “ประชาธิปัตย์” สู้ศึกเลือกตั้ง มั่นใจปักธง “ฝั่งธน” ย้ำ นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตัวจริง ไม่หนีการตรวจสอบทั้งในและนอกสภา ชี้ จำต้องยอมรับกติกา รธน.ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ย้ำชูนโยบายปลดล็อกอำนาจสภาสูงในเลือกตั้งครั้งนี้ ชี้ อาศัยเสียง ส.ว.หนุนหากได้ที่นั่งในสภาไม่ถึงครึ่งก็อยู่ลำบาก

วันนี้ (12 ก.พ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวหลังเปิดศูนย์เลือกตั้งเขตวัฒนา หนองแขม ว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ประชาธิปัตย์ในฝั่งธนจะปักธงได้ภายใต้การสนับสนุนของชาวฝั่งธนบุรี โดยเลือกตั้งครั้งที่แล้วมี 9 เขต แต่ในครั้งนี้จะเพิ่มเป็น 10 เขต ขณะนี้พรรคมีผู้สมัครพร้อมเกือบจะทั้งหมดแล้ว รออีก 1 เขต ที่ กกต. จะประกาศความชัดเจน โดยเขตทวีวัฒนา หนองแขม พรรคประชาธิปัตย์จะส่ง นายวัชระ เพชรทอง ลงสมัครรับเลือกตั้ง มั่นใจว่า จะเป็นเป้าหมายอีกเขตหนึ่งของพรรคที่จะได้รับการสนับสนุนจากชาวหนองแขม ทวีวัฒนา ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลโพลที่คะแนน ส.ส. เขตของประชาธิปัตย์มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ในส่วนอันดับของหัวหน้าพรรคมาเป็นอันดับ 5 นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ขอไปวิจารณ์โพล ไม่ว่าจะเป็นโพลไหนก็ตาม เพราะแต่ละโพลก็มีเป้าหมายที่แตกต่าง หรือเป็นของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่พูดได้ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เรามั่นใจในสิ่งที่ได้ลงมือทำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และที่จะเดินหน้าทำต่อไป

“ผมยังมั่นใจว่า การเลือกตั้งเที่ยวหน้า นครศรีธรรมราช 9 เขต 9 คน เราจะได้ยกทีมทั้งจังหวัด ได้ทั้งคะแนนคน คะแนนเขต และคะแนนพรรคมาเป็นที่หนึ่ง ผมยืนยัน และทีมงานทุกคนก็มั่นใจ”

ส่วนที่มี ส.ว. ออกมาระบุว่า ในมือของ ส.ว. มี 250 เสียง ที่จะโหวตนายกรัฐมนตรี โดยถูกมองว่าตั้งตนเหมือนเป็นพรรคการเมืองนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ไปวิจารณ์ แต่มันยังติดค้างอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งเราก็พยายามแก้ไข เพื่อจะให้คนที่มีหน้าที่ในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา เป็นเฉพาะ ส.ส. แต่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เมื่อไม่ผ่านก็ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญยังเป็นกติกาเดิม คือ ส.ว. ยังโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จนกว่าจะมีการแก้ไขต่อไปในอนาคต

“เที่ยวหน้าหลังการเลือกตั้ง ถ้ายังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจากนี้ จะโหวตอย่างไรนั้น ผมก็ไม่สามารถที่จะไปคาดการณ์ได้ แต่ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ยังไม่แก้ ส.ว. ก็ยังมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภาอยู่ ร่วมกับ ส.ส. แต่อะไรที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์ก็ยังยืนอยู่จุดเดิม และพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใด เพื่อให้นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ ส.ว. ออกมาประกาศว่า หากพรรคการเมืองไม่สามารถรวมเสียงได้ 370 เสียงขึ้นไป ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะมีเสียง ส.ว. 250 เสียง ถือเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชนหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียง 375 เสียงขึ้นไป แต่แม้จะได้เป็นนายกฯ ถ้ายังไม่เข้าองค์ประกอบประการที่ 2 คือ มีเสียงข้างมากในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นได้แต่นายกฯ ที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทน ก็จะอยู่ไม่ได้ อยู่ยาก อยู่ได้ไม่กี่วัน พอถึงเวลาเสนอกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่ผ่านก็ต้องยุบสภา หรือลาออก หรือถ้าถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไปยาก

“ถ้าจะอาศัยแต่เสียงที่ประชุมร่วม ส.ส. กับ ส.ว. เกิน 375 หรือเกินกึ่งหนึ่งของ 750 เสียง เพื่อเป็นนายกฯ อย่างเดียว แต่เสียงในสภาไม่ถึงครึ่ง มันก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ประวัติศาสตร์มันสอนเราอยู่แล้ว ประเทศไหนก็ตาม ก็ไปยาก มันต้องครบ 2 องค์ประกอบ”

ส่วนที่มีบางพรรคการเมืองจะขอไม่ร่วมอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 นั้น สำหรับพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมประชุม โดยตนได้สั่งการไปแล้ว และเป็นหน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร ต้องเข้าร่วมประชุม และสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปหนีการตรวจสอบ

“นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตัวจริงเขาไม่ทำกัน ประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ของเรา แม้จะถูกอภิปราย ตรวจสอบด้วย ก็ไม่มีปัญหา รัฐมนตรีของพรรคก็พร้อมชี้แจง มันเป็นวิถีทางประชาธิปไตย และเราเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย” นายจุรินทร์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น