xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” ชง ป.ป.ช.สอบ “จนท.สอบสวน” ส่อผิด ม.157 เหตุถามชี้นำปมขอพระราชทานอภัยโทษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สมศักดิ์” โวยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ถามชี้นำปมขอพระราชทานอภัยโทษ แฉยัดคำถามราชทัณฑ์ชี้เป้า “รมว.ยุติธรรม” สั่งการหรือไม่ ห่วงอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรม สวนทางที่ ยธ.ลุยสร้างความเป็นธรรม-เท่าเทียม เผย ขับเคลื่อน กม.แล้ว 22 ฉบับ ขอ ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบผิด ม.157 หรือไม่

วันนี้ (13 ก.พ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้เดินทางเข้าชี้แจงกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจากที่เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 65 ตนได้ร้องเรียนพนักงานสอบสวนระดับกลางของ ป.ป.ช. และคณะพนักงานไต่สวน ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ในระหว่างการสอบสวนกรณีข้อร้องเรียนการขอพระราชทานอภัยโทษ ในขณะตนเป็น รมว.ยุติธรรม แต่ในระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้มีการถามชี้นำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ ว่า การดำเนินการตนเป็นคนสั่งการให้ดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

“ในกระบวนการยุติธรรมไม่ควรมีการตั้งคำถามชี้นำ ที่เสมือนเป็นการตั้งธง เพื่อให้คนที่ตัวเองต้องการได้รับโทษ จึงทำให้เป็นเป้าหลักในการสอบสวน ทั้งที่ควรดูทั้งระบบ สิ่งที่เกิดขึ้น อันตรายกับกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับที่ตนพยายามขับเคลื่อนกระทรวงยุติธรรม เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรม มีความเท่าเทียม เสมอภาค ไม่เกิดการกลั่นแกล้ง” นายสมศักดิ์ ระบุ

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงตนบริการกระทรวงยุติธรรมได้ให้นโยบายในการสร้างความเท่าเทียม และเสมอภาค จึงได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปแล้วกว่า 22 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ และ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา เป็นต้น แต่กลับมาพบว่า กรรมการ ป.ป.ช.บางท่านเป็นเสียเอง ซึ่งอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรตรวจสอบระดับชาติหรือไม่ จึงได้ขอร้องเรียนเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรม เกิดความเสียหาย และต้องการให้สังคมรับรู้ แสวงหาความเป็นธรรม ให้กับผู้ถูกกล่าวหา โดยปัจจุบันการยื่นร้องเรียนต่างๆ นั้น ง่ายเกินไป ตนจึงพยายามผลักดันกฎหมายให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือ ทางวินัย สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานบางประเภท ที่ไม่มีเจตนาทุจริต (Law of Efficiency) ซึ่งขณะนี้ ได้เสนอหลักการกฎหมาย จนคณะรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบแล้ว เพื่อทำให้การร้องเรียนยากขึ้น และช่วยให้เจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิดในกรณีทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม

“ผมพยายามทำให้กระบวนการยุติธรรม ยกระดับไปในทางที่ดีขึ้น จนมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองชมว่าเป็นกระทรวงเกรดเอ แต่การที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.บางท่าน ถามชี้นำ ผมจึงต้องการให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพื่อให้ทุกคนยังมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม” รมว.ยุติธรรม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น