xs
xsm
sm
md
lg

“ปวิน” เย้ยหนักมาก แค้นฝังหุ่น “คริส” ปมวิจารณ์ “เฌอปราง” แล้วถูกประณาม หลังอีกฝ่ายลาออก อ้างอยู่ไม่ได้กับ “พรรค ปชต.” ปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ คริส โปตระนันทน์ ลาออกจากพรรคก้าวไกล อ้างไม่เป็น ปชต. ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun อยู่ที่ เคียวโตะ และ THAI LAND vision
ขำ! “ปวิน” เย้ยหนักมาก เอาคืน “คริส” และแกนนำ “อดีตอนาคตใหม่” แค้นฝังหุ่น ปมวิจารณ์ “เฌอปราง” แล้วถูกประณาม ด้าน “คริส” ประกาศลาออก อ้างอยู่ไม่ได้กับพรรค “ปชต.” ปลอม “อดีตบิ๊ก ศรภ.” ยก “โพลราชวงศ์อังกฤษ” ตบหน้าพวกกุข่าว

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (9 ก.พ. 66) เพจเฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun อยู่ที่ เคียวโตะ, ญี่ปุ่น ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ต้องหาคดี 112 ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า

“เมื่อปี 2018 ดิชั้นวิจารณ์เฌอปรางที่สนับสนุนรัฐบาล ประยุทธ์ เหล่าโอตะโกรธ และเห็นจังหวะที่ดิชั้นได้เชิญธนาธรมาญี่ปุ่น โดยผูกเรื่องว่า ปวินหนุนอนาคตใหม่ และเพราะปวินตำหนิเฌอปราง ดังนั้น เหล่าโอตะทั้งหลายจะไม่เลือกพรรคอนาคตใหม่ คริส โปตระนันทน์ รีบออกมาประณามดิชั้น และบอกว่า ปวินไม่เกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ทั้งสิ้น (ทั้งๆ ที่ผู้นำพรรคเคยขอร้องให้ดิชั้นช่วยดันพรรค) ดิชั้นหลังไมค์ไปหาผู้นำเหล่านั้น เพื่อขอให้เค้าชี้แจงเรื่องนี้ ผู้นำเหล่านั้นสะบัดบ๊อบใส่ดิชั้น อุ้มคริส แถมบอกว่า การที่เฌอปรางสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ จากวันนั้น ดิชั้นตัดขาดจากพรรคนี้

…วันนี้ นักการเมืองอย่างคริสเดินออกจากพรรค แถมด่าลับหลังว่าพรรคห่วย กระจอก ดิชั้นได้แค่นั่งขำที่เกียวโต ดื่มชาเขียวสวยๆ เลี้ยงหมาอย่างสบายใจ”

ภาพ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun อยู่ที่ เคียวโตะ
ขณะเดียวกัน นายคริส โปตระนันทน์ อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตจตุจักร พญาไท ราชเทวี ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุก คริส โปตระนันทน์ - Chris Potranandana เปิดใจถึงการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ระบุว่า

“สวัสดีครับประชาชนที่รักทุกท่าน

วันสองวันนี้มีคนสอบถามผมเข้ามาเยอะว่า ผมยังเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอยู่หรือไม่?

ผมเรียนถึงทุกท่านตามตรงว่า ผมมีความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งในพรรคนี้ไม่น้อยกว่าใคร

แต่ตัวผมก็ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพราะเหตุผลสามประการ

1. ผมอยากจะทำการเมืองในพรรคที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความเป็นประชาธิปไตยของพรรคยังห่างจากที่พรรคโฆษณาอีกมาก การที่ผมได้มาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กับคุณธนาธร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 เพราะผมไม่ได้มาทำการเมืองเพื่อให้ใครได้เป็น ส.ส. หรือเพื่อให้ใครได้อำนาจ หรือมาทำการเมืองเพื่อผลักดันวาระทางการเมืองของใครบางคน

ผมอยากได้พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือ พรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของ

เวลาจากวันนั้นถึงวันผ่านมา 5 ปี

ต้องถามกลับไปที่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกพรรค จำนวนกว่า 60,000 คน ว่าทราบบ้างหรือไม่ว่า

พรรคมีประชุมสามัญวันไหน พรรคมีการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.กันอย่างไร กลไกในการคัดเลือกนโยบายที่จะหาเสียงในคราวนี้ คุณเคยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือไม่? ใครจะได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณรู้หรือไม่?

ผมในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกตลอดชีพทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ตอบได้เลยว่า เรื่องทั้งหมดที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องของการตัดสินใจของคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ผมให้ชื่อเล่นกลุ่มนี้ว่า “โปลิตบูโร”

หากการบริหารพรรคยังเป็นอย่างนี้ หากพรรคก้าวไกลได้อำนาจในการบริหารประเทศ พรรคก้าวไกลจะบริหารประเทศอย่างไร ก็คงต้องอยู่ที่คนกลุ่มนี้ ไม่ได้อยู่สมาชิกพรรคแต่อย่างใด

เรื่องดีๆ ใครก็พูดได้ แต่ทำยาก ผมก็เข้าใจ มิฉะนั้น พรรคก้าวไกลในอนาคตคงจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากพรรคการเมืองที่ดีแต่พูด (Hypocrital party)

เรื่องนี้ผมสะท้อนให้แกนนำฟัง ผมพูดในที่ประชุมใหญ่พรรคทุกปี พูดกับทุกคน คำตอบที่ได้มีเพียงแค่ “ขอเวลาหน่อย” “เรายุ่งมาก อดทนหน่อยนะ ทำให้แน่ๆ” “เลือกตั้งคราวหน้า เราทำแน่ๆ”

ฟังดีๆ มันคล้ายที่คุณประยุทธ์พูด “ขอเวลาอีกไม่นาน”

เรื่องนี้ผมรับรู้อย่างลึกซึ้งด้วยตัวเอง เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมสอบถามผ่านแกนนำว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะจัดการอย่างไร

เป็นไปได้หรือไม่ที่ผมจะขยับไปลง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพราะมีโอกาสสูงมากที่เขตที่ผมลงรอบปี 62 (ราชเทวี พญาไท จตุจักร 2 แขวง) จะถูกแบ่งใหม่แยกเป็นสามส่วน และผมก็เชื่อว่า ความรู้ความสามารถของเราสามารถที่จะช่วยให้พรรคหาเสียงทั่วประเทศได้ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา การทำงานของผมและเพื่อนๆ ในกลุ่มเส้นด้ายลงไปทำงานกับชุมชนแออัดทั่วทุกเขตใน กทม. และในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ จน ส.ก.ในกลุ่มของผมได้รับเลือกตั้งจำนวนมาก และเกือบชนะอีกจำนวนหนึ่ง

คำตอบที่ได้กลับมาคือ คุณจะมาเป็นได้ยังไง? คุณเหยียบย่ำหัวใจคนในพรรคขนาดนี้

ผมก็งงสิครับนี่มันเรื่องอะไร ผมไปเหยียบใครตอนไหน พอนั่งนึกก็ถึงบางอ้อ

- ผมคัดค้านการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของ ส.ส.วิโรจน์ เพราะเห็นว่าตัวผู้สมัครของเราไม่ดีพอที่จะสู้กับผู้ว่าฯ ชัชชาติ

o ผลคือ พรรคก้าวไกลแพ้ต่อผู้ว่าชัชชาติชนิดคะแนนทิ้งกัน 2 แสนกับ 1.2 ล้านเสียง

- ผมคัดค้านการแต่งตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อคนหนึ่งมาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ส.ส.ซ่อมเขตจตุจักร-หลักสี่ เพราะ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่มีทางที่จะเข้าใจการเลือกตั้งแบบเขต หากไม่เคยลงเลือกตั้งมาก่อน

o ผลคือ พรรคก้าวไกลแพ้ในเขตชนิดคะแนนทิ้งกันเกือบหมื่นคะแนน

- ผมคัดค้านการแต่งตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อคนหนึ่งมาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ส.ส.ในกรุงเทพมหานคร ปี 66 อีกครั้ง เพราะเรากำลังเอาคนที่ทำเลือกตั้งแพ้มาแล้วครั้งหนี่งมาคุมเลือกตั้งที่สำคัญกว่าและใหญ่กว่า

- ผมในฐานะอดีตประธานมูลนิธิเส้นด้าย แถลงข่าวกรณีที่อาสาของมูลนิธิเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากอดีต ส.ก. พรรคก้าวไกล

o ผลคือ ผมโดนถล่มจากสมาชิกพรรคว่า ไม่ปกป้องพรรค

ผมไม่เคยกลัวในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่เคยกลัวในการกระทำที่เราคิดว่าถูกต้อง และที่ผ่านมา ผมพูดตรงๆ กับพรรคเสมอถึงความยุติธรรมในประเด็นต่างๆ เช่น การเกลี่ยทรัพยากรของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กับ ส.ส.เขต ความน้อยเนื้อต่ำใจของคนที่ลงพื้นที่เหล่านี้อยู่ในใจของผู้สมัครท้องถิ่น หรือผู้สมัคร ส.ส.เขตทุกคนแต่ไม่มีใครกล้าพูด แต่การที่ผมพูดกับแกนนำแบบนั้น มันทำให้ผมกลายเป็น

- ทำไมคุณถึงมีปัญหาตลอดเลย?

- ผมเป็นคนเลว เพราะผมต้องการแย่งเงิน แย่งทรัพยากรจาก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ?

- ผมเป็นคนไม่จงรักภักดีกับพรรค?

วันที่ผมนั่งคุยกับแกนนำเรื่องการขยับไปลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

วันนั้นแกนนำท่านหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท เปรียบเทียบให้ผมฟังว่า

หากมีเซลส์ในบริษัท 2 คน คนแรกเป็นคนเก่ง คนฉลาด ยอดขายดีมากๆ แต่ต่อรองผลประโยชน์ตลอด กับอีกคนยอดขายครึ่งเดียวของคนแรก แต่จงรักภักดีมากๆ

เค้าจะเลือกคนที่สอง

ผมก็เลยรู้แล้วว่า ชะตากรรมผมในพรรคนี้จะเป็นตาย ร้าย ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผมจะพิสูจน์ความจงรักภักดีกับ “โปลิตบูโร” ได้หรือไม่?

แน่นอนนั่นคือวิธีการบริหารงานแบบหนึ่ง เรื่องนี้ไม่มีถูก ไม่มีผิด

แต่เมื่อคุณโฆษณากับประชาชนแล้วว่าคุณเป็นพรรคประชาธิปไตย พฤติกรรมของคุณต้องทำให้ได้ตามที่คุณพูด

ไม่งั้นจะกลายเป็น สำนวนไทย ข้างนอกสุกใส ข้างในตะติ๊งโหน่ง

2. ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายประการของพรรคก้าวไกล

พรรคการเมืองอนาคตใหม่ที่ผมร่วมจัดตั้ง ผมฝันว่าพรรคจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นเหมือนร่มคันใหญ่ ที่สามารถโอบรับได้กับความหลากหลายของสมาชิกพรรค ไม่ว่าจะเป็นความคิดการเมืองแบบฝั่งซ้าย ความคิดการเมืองแบบฝั่งขวา ความคิดเศรษฐกิจแบบเสรี ความคิดเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

วันแรกจุดร่วมของจุดใหญ่ คือ การไม่เอาเผด็จการ (เรื่องการแก้ไข 112 ในวันนั้นยังไม่ใช่วาระของพรรคด้วยซ้ำ) ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เหลือ อ.ปิยบุตร ยังเคยบอกผมตอนเถียงกับ อ.ษัษรัมย์ (ตอนนั้น อ.เสนอเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่ผมเสนอว่าคำตอบน่าจะเป็นเศรษฐกิจแบบเสรีมากกว่า) เรื่องนโยบายเศรษฐกิจของพรรคว่า เดี๋ยวค่อยไปคุยกัน เมื่อเราทำภารกิจสำเร็จ ต่างฝ่ายค่อยแยกออกไปตั้งพรรคก็ได้

5 ปี เดินผ่านไป

วันนี้นโยบายของก้าวไกลหล่นลงมาจากฟากฟ้า หล่นลงมาจากห้องแอร์ ไม่ว่าคุณจะเรียกชื่อมันว่าอะไร

วันนี้หนึ่งในนโยบายหาเสียงที่สำคัญที่สุดของพรรคก้าวไกล คือ เงินบำนาญของคนที่อายุเกิน 60 ปี ถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท หากนโยบายนี้สำเร็จ รัฐบาลจะมีรายจ่ายจากแปดหมื่นกว่าล้าน เป็นสามแสนล้านหกหมื่นล้านบาททันที

หากใช้นโยบายนี้ต่อไปอีก 10 ปี คนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะกลายเป็น 20 ล้านคน เราจะมีรายจ่ายประจำปี ปีละ 6 แสนกว่าล้านบาท หรือเท่ากับประมาณ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประเทศไทยเตรียมรับความชิบหายได้เลยครับ

วันนี้ถ้าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ถ้าผมอยู่ในพรรค ผมจะทำอย่างไรได้ครับ นอกจากเวลาใครพูดถึงนโยบายนี้ก็เงียบๆ แล้วกระซิบกับเค้าว่า ผมไม่เห็นด้วยนะ

ที่ผ่านมา วัฒนธรรมของพรรค คือ ไม่เห็นด้วยอะไรก็คุยกันภายใน

เพราะถ้าผมพูด คนในพรรคก้าวไกลจำนวนมากที่ไม่สามารถแยกแยะได้ก็จะชี้หน้าคนที่คิดไม่เหมือนตนว่า ไม่มีอุดมการณ์ ไม่จงรักภักดีต่อพรรค

ผมคนหนึ่งที่คิดไม่เหมือนพรรคทั้งหมด จะมีทางไหนเป็นทางออกครับ

เมื่อระบบในพรรคเป็นแบบนี้ ผมซึ่งกำลังจะเสนอตัวลงเลือกตั้งในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล

จึงไม่สามารถจะเป็นเซลส์ขายนโยบายของพรรคได้จริงๆ เพราะเราเป็นนักการเมือง เรามีความเชื่อของเรา เราไม่ใช่นักขายที่ไม่ว่าของจะดีหรือไม่ดี ก็ต้องโกหกประชาชน

บางคนบอกผมว่า อดทนอีกเดียวเอง จะได้เป็น ส.ส.แล้ว

ถ้าผมได้เป็น ส.ส.แล้วผมต้องทรยศต่อตัวเอง ทรยศต่อประชาชน ผมไม่เป็นครับ

3. ผมไม่สามารถโกหกประชาชนได้

ครั้งนี้ผมจะลงเลือกตั้งรับสมัครเป็น ส.ส.อีกครั้งหนึ่ง แต่ผมไม่สามารถลงเลือกตั้งกับพรรคก้าวไกลได้ เพราะถ้าผมชนะเลือกตั้ง มันก็เท่ากับผมโกหกประชาชน ผมพูดนโยบายที่ผมไม่เชื่อ ผมพูดถึงพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการ ผมจะพูดถึงพรรคได้เต็มปากได้อย่างไร

พรรคบอกว่า พรรคเป็นพรรคของประชาชน แต่ตอนนี้พรรคกำลังจะกลายเป็น “พรรคพวก” คนที่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวนหนึ่ง กำลังได้เป็นต่อในสมัยหน้า หาก “โปลิตบูโร” ถูกใจ ยังงั้นหรือ? หากพรรคจะเป็นพรรคของประชาชนจริงๆ พรรคต้องกล้าทำตามข้อเสนอ set zero ของ อ.ปิยบุตร พรรคต้องกล้าเปิดให้สมาชิกโหวตผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อทางตรงอย่างโปร่งใส เพื่อพิสูจน์กับประชาชน ว่า นี่คือ พรรคการเมืองสมาชิก เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมืองของโปลิตบูโร ไม่ใช่พรรคการเมืองของ “พรรคพวก”

ผมย้ำอีกครั้งว่า การที่ผมลาออกจากพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เพราะผมโกรธ หรือเกลียด หรือน้อยใจ แต่เป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของพรรค ผมยังภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเด็นสังคมที่ผมเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย หรือ เรื่องการเปิดใบอนุญาตสุรา ให้มาถึงจุดจุดนี้

แต่การลาออกของผมจะมีคุณูปการใดๆ ต่อการบริหารงานของพรรค หากพรรคไม่ปรับการบริหาร แทนที่พรรคก้าวไกลจะใหญ่ขึ้น พรรคจะเล็กลงเรื่อยๆ จนเหลือแต่ “เลือดแท้” แต่การเหลือแต่เลือดแท้จะมีประโยชน์อย่างไร หากเลือดแท้นั้นมีจำนวนน้อย และไม่มีเสียงพอที่จะผลักวาระของพรรคให้สำเร็จผ่านระบบรัฐสภา

ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผมขอขอบคุณอาจารย์ปิยบุตรที่ชวนผมเข้ามาทำงานทางการเมือง แม้ว่าอาจารย์จะชิงลาออกตัดหน้าผมไปก่อนก็ตาม ผมขอขอบคุณพี่เอก คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้ให้โอกาสเป็นหัวหน้าคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคอนาคตใหม่ ผมขอขอบคุณ เพื่อนๆ ทั้งในในพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลและประชาชนที่ได้ร่วมเดินทางกันทุกๆท่าน

ถนนแห่งประชาธิปไตยไม่ได้มีทางเดียว

แล้วพบกันที่ปลายทาง...”

ภาพ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ระบุว่า

“เรื่องโม้เกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษที่เผยแพร่อยู่ในเด็กๆ กลุ่มหนึ่ง

เริ่มด้วยการขอเล่าเรื่องจริงก่อนครับ

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงตกเป็น

เป้าหมาย ในการวิพากษ์วิจารณ์ว่า “พระองค์ไม่ได้ความนิยม จากประชาชนมากนัก” ตั้งแต่เริ่มขึ้นครองราชสมบัติ โดยมีสาเหตุหลัก ที่ไม่ได้มาจากกลุ่มต่อต้านสถาบันฯ ที่ต้องการให้อังกฤษ มีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ แต่อย่างใด

แต่กลับไปมีปัญหาหลักมาจากพวกรักสถาบันฯเหมือนกัน

ที่โกรธ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จากเรื่องความรักที่สลับซับซ้อนของพระองค์ กับ เจ้าหญิงไดอาน่า และ คามิลล่า ปาร์กเกอร์ โบว์ลส

ในปัจจุบัน สถานการณ์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กลับดีวันดีคืน พระราชินี คามิลล่า ก็เช่นกัน (ผ่านการสำรวจจากโพล YouGov เดือนกันยา 65) เมื่อความเข้าใจของประชาชนต่อเรื่องเจ้าหญิงไดอาน่า ดีขึ้น โดยมีคนอังกฤษมากถึง 63% ที่เชื่อว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ได้ดี (จากเดิม มีผู้เชื่อถือเพียง 32% เท่านั้น)

นอกจากนั้น ผลสำรวจยังได้ยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของสถาบันฯเพิ่มเติมขึ้นอีกจากประชาชนอังกฤษ 9 ใน 10 คน ที่เห็นว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นสิ่งที่ดีสำหรับอังกฤษ

นี่คือข้อเท็จจริง ที่เด็กๆ หลายคนควรรับรู้ไว้ครับ อย่าไปเชื่ออย่างเด็ดขาด ที่มีนักวิชาการหลายคน มาบอกว่า สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ กำลังล่มสลาย ซึ่งเป็นข่าวไม่จริง แค่ออกมาใช้หาเสียงทางการเมืองในไทย เท่านั้น”

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ “ความปลอม” ที่ถูกแฉออกมาจาก “คนใน” ซึ่งหลายคนเชื่อและตั้งข้อสงสัยมานานแล้ว จากพฤติกรรมย้อนแย้งหลายอย่างของ แกนนำบางกลุ่ม ที่อ้างต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตยที่ดีกว่า”

ยิ่งกว่านั้น สมาชิกพรรคหลายคนที่ลาออกจากพรรค ทั้งในอดีต และปัจจุบัน ต่างพูดคล้ายกันว่า ข้างนอกอ้าง เป็น “ประชาธิปไตย” แต่เนื้อในแล้ว นอกจากจะมี “โปลิตบูโร” ไม่กี่คนตัดสินชี้ขาดทุกอย่าง ยังไม่ยอมรับฟัง “ความเห็นต่าง” ข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นหลักประชาธิปไตยพื้นฐานด้วยซ้ำ เรื่องนี้นับว่าน่าคิดอย่างยิ่ง

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ถ้าเช่นนั้น “อุดมการณ์ที่แท้จริง” และ “เป้าหมาย” ทางการเมืองที่แท้จริง คืออะไร ถ้าไม่ใช่เป็นพรรคต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวอ้าง นับว่าน่าหาคำตอบอยู่ไม่น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น