xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ วุฒิ ส่ง กกต.พิจารณาปมคุณสมบัติ “บุญส่ง ไข่เกษ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง ไข่เกษ (แฟ้มภาพ)
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณาคุณสมบัติ “บุญส่ง ไข่เกษ” พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ว.หรือไม่ หลังได้รับเลือกเป็นนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนไปยังประธานวุฒิสภา เกี่ยวกับปัญหาการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 108 ประกอบกับมาตรา 98(15) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2560 ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง ไข่เกษ สมาชิกวุฒิสภาประเภทเลือกตั้ง เนื่องจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง ไข่เกษ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” จากกรณีได้รับเลือกจากสมาชิกสามัญให้เป็นนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 หมวด 3 คณะกรรมการมาตรา 21 ทําให้ต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภานั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไปยังผู้ร้องเรียน มีรายละเอียด ดังนี้

ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้มีหนังสือ กราบเรียน ประธานวุฒิสภา เรื่อง ขอร้องเรียน สมาชิกวุฒิสภามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมและมีลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกวุฒิสภา ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

ในการนี้ ประธานวุฒิสภาได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การขอให้ประธานวุฒิสภาพิจารณา ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาว่ามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 108 ประกอบมาตรา 98(15) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่ นั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 82 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งคําร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัย ในเรื่องดังกล่าวไว้ 2 กรณี ดังนี้

1. กรณีตามมาตรา 82 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “สมาชิกวุฒิสภา จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 111...(4) และให้ประธานแห่งสภา ที่ได้รับคําร้อง ส่งคําร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่...”

2. กรณีตามมาตรา 82 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลง ตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งได้ด้วย”

ทั้งนี้ การพิจารณาดําเนินการตามมาตรา 82 วรรคหนึ่ง ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนที่จะเป็นผู้ริเริ่มดําเนินการ ประกอบกับมาตรา 114 ได้บัญญัติไว้ว่า “สมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงําใดๆ” ดังนั้น จึงส่งเรื่องของท่านไปยังสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาดําเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น