รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.ให้ความเห็นชอบต่อร่างจดหมายสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย
วันนี้ (7 ก.พ.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างจดหมายสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) พร้อมกับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนลงนามในร่างจดหมายสนับสนุนฯ ดังกล่าว
สำหรับการให้ความเห็นชอบนี้ สืบเนื่องจากที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีสมาชิกตามข้อบทของความตกลงเพื่อการจัดตั้ง AIIB เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 58 และความตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันเมื่อ 29 ธ.ค. 59 และข้อบทที่ 44 วรรคสอง ของความตกลงก็ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเพื่อให้บทบัญญัติเกี่ยวกับการให้สถานะ ความคุ้มกัน เอกสิทธิ์ และการยกเว้นแก่ AIIB มีผลบังคับใช้ในดินแดนของตน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า AIIB ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระกระทรวงการคลังขอให้ประเทศไทยในฐานะสมาชิกพิจารณาลงนามในร่างจดหมายสนับสนุนการดำเนินงานของ AIIB เพื่อรับรองว่าการดำเนินงานของ AIIB ในประเทศสมาชิกจะได้รับเอกสิทธิ์ และความคุ้มกันตามที่กำหนด เช่น การคุ้มกันจากกระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย การคุ้มกันทรัพย์สิน เอกสิทธิ์ในการติดต่อประสานงาน ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง การยกเว้นภาษีอากร เป็นต้น ซึ่งกระทรงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาและปรับปรุงร่างจดหมายสนับสนุนฯ ให้อยู่ในขอบเขตของข้อบทของความตกลงฯ โดยไม่เพิ่มภาระผูกพันแก่ประเทศไทย และให้สอดคล้องกับระเบียบของหน่วยงานแล้ว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พันธกรณีภายใต้ความตกลงยังได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้รับฝากสินทรัพย์ของ AIIB ในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการขยายการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งเป็นไปตามข้อบทที่ 33 ของความตกลงที่ให้ประเทศสมาชิกแต่งตั้งธนาคารกลางหรือสถบันอื่นใดเป็นสถานที่รับฝากเงินตราหรือทรัพย์สินของ AIIB
นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดเตรียมสกุลเงินตราอื่นที่พึงแลกเปลี่ยนได้สำหรับการทำธุรกรรมของ AIIB ในประเทศไทย โดยปราศจากภาษี โดยหากประเทศไทยจะดำเนินการกู้ยืม หรือ กรอกเอกสารทางการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ในการระดมเงินทุน ประเทศไทยต้องให้สิทธิแก่ AIIB ไม่น้อยไปกว่าที่ให้กับประเทศอื่น หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น และกรณีที่ AIIB เปิดสำนักงานหรือจัดงานอย่างเป็นทางการในประเทศสมาชิก รัฐบาลจะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ที่จะให้คุ้มครองเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเพิ่มเติมสำหรับ AIIB และเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ AIIB ตามความจำเป็น