xs
xsm
sm
md
lg

กกต.กทม.เผย 5 รูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แนะ พรรค-ปชช.แสดงความอย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกต.กทม. ประกาศ 5 รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้พรรคการเมือง-ปชช.แสดงความเห็นพรุ่งนี้ ชี้ อยากให้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์คนทั้งประเทศ ก่อนส่งสรุปความเห็นให้ กกต.กลาง

วันนี้ (3 ก.พ.) นายสำราญ ตันติพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้ สำนักงาน กกต.กทม. ได้ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 10 วัน โดยจะเริ่มแสดงความคิดเห็นได้ในวันพรุ่งนี้ (4 ก.พ.) ซึ่งสำนักงาน กกต.กทม.ได้จัดทำประกาศ แผนที่รูปแบบการแบ่งเขต บรรจุไว้ใน QR CODE โดย กทม. จำทำรูปแบบการแบ่งเขตไว้ 5 รูปแบบ

นายสำราญ กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นตอนการเริ่มต้น โดยให้ ผอ.กกต.จังหวัดและกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ ต่อ 1 จังหวัด เพื่อประกาศรับฟังความคิดเห็น พรรคการเมือง ประชาชน ในเขตนั้นๆ ยังไม่ได้เคาะกว่ารูปแบบไหนดีกว่าแบบไหน ซึ่ง กทม.แบ่งเขตไว้ 5 รูปแบบ เพื่อให้เป็นทางเลือก โดยทุกรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ ก่อนจะรับฟังความเห็นพรรคการเมือง คนกรุงเทพฯ ว่า รูปไหนที่เห็นว่ามีความเหมาะสมที่สุดกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หลังจาก 10 วันแล้ว ก็จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดในแต่ละรูปแบบเสนอต่อ กกต.กลาง ให้วินิจฉัยรูปแบบเขตเลือกตั้งที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด ซึ่งวิธีการขั้นต้นในการแบ่งเขตแต่ละจังหวัดไปดำเนินการ โดยจะออกประกาศรูปแบบการแบ่งเขตวันนี้ มีผลวันพรุ่งนี้ และเริ่มแสดงความคิดเห็นได้ไปจนถึงวันที่ 13 ก.พ.รวมระยะเวลา 10 วัน ตามที่กำหนด และภายในวันที่ 16 ก.พ.ทุกจังหวัดก็จะพิจารณารูปแบบที่เห็นว่ามีความเหมาะสมเรียงตามลำดับ

นายสำราญ ยอมรับว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ ในส่วนของ กทม.มีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเดิมมี 30 เขต ส.ส. 30 คน ปัจจุปันเพิ่มมาเป็น 33 เขต ส.ส. 33 คน ซึ่งในการแบ่งเขตได้นำรูปแบบการแบ่งเดิมมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 27 กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็น ขณะเดียวกันก็ย้อนไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 ที่มี 33 เขตเลือกตั้งเท่ากัน

“เราแบ่งเราก็ดูหมดทั้งปี 2554 และ 2557 และปี 2562 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 29 โดยสิ่งที่ กกต.ต้องการ คือ รับฟังความคิดเห็นให้กว้างขวางที่สุด เพราะประโยชน์ของการเลือกตั้งไม่ได้เกิดกับเรา หรือใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดประโยชน์กับคนทั้งประเทศ” นายสำราญ กล่าวและว่า ส่วนของ กกต.กทม.ผู้ที่ประสงค์จะแสดงความคิดเห็นสามารถดำเนินการผ่าน 4 ช่องทางคือ 1. มาแสดงความเห็นด้วยตนเอง ที่สำนักงาน กกต.กทม. ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะไม่เว้นวันหยุดราชการ 2. ผ่านทางโทรสารของสำนักงาน กกต.กทม. 3. ไปรษณีย์ 4. อีเมลของสำนักงาน กกต.กทม


กำลังโหลดความคิดเห็น