xs
xsm
sm
md
lg

กทม.สั่ง 50 เขต ใช้ราคากลางเปลี่ยนหลอดไฟสาธารณะ 2.5 หมื่นดวง ไม่เกินชุดละหมื่น หลังทุ่ม 315 ล้าน ติดใหม่ทุกพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม.สั่ง 50 เขต ใช้ราคากลาง ตามแผนเปลี่ยน ชุดหลอดไฟสาธารณะ LED 24,642 ดวง ในวงเงินงบประมาณ ที่ได้รับจัดสรร 315 ล้านบาท จัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกินหน่วยละ 1 หมื่นบาท หลัง กฟน.ประเมินราคาและออกแบบ คาด เริ่มประมูล เดือน มี.ค. เพิ่ม 6 โครงการ หลังนำร่อง 5,000 ดวง ได้ผู้ชนะแล้ว 1 โครงการ 51.8 ล้านบาท จากราคากลาง 75 ล้านบาท

วันนี้ (2 ก.พ.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักการโยธา กทม. เวียนหนังสือถึง สำนักเขต 50 แห่ง เพื่อแจ้ง ราคากลางงานซ่อมไฟฟ้าส่องสว่าง

ตามนโยบาย กรุงเทพต้องสว่าง ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สั่งการให้สำนักงานเขต เร่งดำเนินการสำรวจไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่ “ไฟฟ้าสาธารณะ” ที่ดับหรือชำรุดเสียหาย

ภายหลัง สำนักโยธา กทม. ได้ประกาศผู้ชนะราคาในโครงการแล้ว 1 โครงการ โดยผู้ชนะเสนอราคา 51.8 ล้านบาท จากราคากลาง 75 ล้านบาท

และอีก 6 สัญญาอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจัดหาไฟส่องสว่าง 24,642 ดวง ในวงเงินงบประมาณ ที่ได้รับจัดสรร 315 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์สำหรับไฟส่องสว่างอื่นๆ เช่น สายไฟ โคมไฟถนน

เพื่อจัดซ่อมไฟฟ้าในพื้นที่ (เฉพาะดวงโคม LED พร้อมระบบแจ้งเตือน IOT เท่านั้น) ซึ่งคาดว่า จะได้ผู้รับจ้างและสามารถจัดทำสัญญาได้เรียบร้อยภายในเดือน มีนาคม 2566

ล่าสุด สำนักการโยธา ได้เวียนหนังสือ ราคากลางงานซ่อมไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อกำหนดให้ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีราคากลาง ต่อ 1หน่วย ประมาณ 5,000-1 หมื่นบาท ประกอบด้วย

1. ตัว Ballad hps lamp 150 watt ราคากลาง 1,100 บาท รวมค่าแรง 1,174 บาท 2. ตัว Intor ขนาด 150-400 ราคากลาง 237 บาท รวมค่าแรง 796 บาท

3. หลอดไฟ Highpressour sodium 150 W ราคากลาง 375 บาท รวมค่าแรง 392 บาท 4. ตัว Fuse 6 amp ราคากลาง 120 บาท รวมค่าแรง 67 บาท

และ 5. สาย VCT 2 x 2.5 ราคากลาง เมตรละ 43 บาท ค่าแรงเมตรละ 24 บาท

ทั้งนี้ กทม.มีโครงการเปลี่ยนหลอดไฟ 25,000 ดวง เซ็นสัญญาจ้างแล้ว 5,000 ดวง และจะทยอยเปลี่ยนในถนนสายหลัก สำหรับ 20,000 ดวง จะกระจายลงใน 50 เขต แบ่งเป็นเขตละ 400 ดวง

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกับ กทม.คือ ทำก่อนจ่ายทีหลัง

แต่หลังจากที่มี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อีก กฟน.ต้องสำรวจเพื่อประเมินราคาและออกแบบก่อน จากนั้นเขตถึงจะจัดซื้อจัดจ้างได้

ขณะที่ ในที่ประชุมร่วมกำหนดแนวทางการจัดซ่อมไฟฟ้าสาธารณะในพื้นที่ โดย กฟน. และ สำนักโยธา กทม. กำหนดขั้นตอนการแจ้งซ่อมไฟฟ้าสาธารณะ ในพื้นที่สำนักงานเขต

“สำนักงานเขต 50 แห่ง ได้เริ่มดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2565 - กุมภาพันธ์ 2566 หากพบว่า มีไฟฟ้าขัดข้อง สำนักงานเขต จะเป็นผู้แจ้งกฟน.เข้ามาซ่อมแซมไปก่อน โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากสำนักงานเขต”

ส่วนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นไป หากสำนักงานเขต พบไฟฟ้าดับ ให้แจ้งไปยังสำนักการโยธา ทางกลุ่มไลน์

ซึ่งสำนักการโยธา จะเข้าไปดำเนินการจัดซ่อมเปลี่ยนดวงโคม LED พร้อมระบบแจ้งเดือน IOT ทั้ง ถนน/ตรอก/ซอยในคราวเดียวกัน ทดแทนโคมที่เสี่อมสภาพ ในเบื้องต้น 5,000 ดวง

“ส่วนโคมไฟเดิมที่สามารถใข้งานได้อยู่จะนำไป เปลี่ยนใส่ในจุดอื่นที่โคมไฟชำรุด เฉลี่ยเขตละ 400 ดวง โดยจัดลำดับตามความสำคัญก่อนหลัง”

ที่ผ่านมา กทม. ทำสัญญาร่วมกับ กฟน. ดำเนินการติดตั้งและดูแล หลอดไฟฟ้า เสาไฟ สตาร์ทเตอร์ และสายไฟฟ้า โดยกทม.เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ถนนสายหลัก และสายรอง 4,000 สาย.


กำลังโหลดความคิดเห็น