กสม.หารือ ยธ. ปฏิรูปปมปล่อยตัวชั่วคราว กรณี “แบม-ตะวัน” พร้อมพิจารณาเปลี่ยนใช้บ้านเป็นที่คุมขัง แทนเรือนจำ และให้การสนับสนุนหลักประกันปล่อยตัวชั่วคราว
วันนี้ (1 ก.พ.) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นายสุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาวสุภัทรา นาคะผิว พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และ นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าหารือกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ นายวิทยา สุริยะวงค์ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในประเด็นความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ต้องขัง กรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) โดยการหารือมีข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้น คือ กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาดำเนินการปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้การปฏิบัติในปัจจุบันสอดคล้องกับหลักการในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่า บุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และ “การจับกุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้หลบหนี”
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรม พร้อมพิจารณาทบทวนระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับในปัจจุบันเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความแตกต่างทางความคิดหรือความเห็นต่าง ซึ่งไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี และยังไม่มีการพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดให้สามารถคุมขังในสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่เรือนจำได้ ซึ่งรวมถึงการคุมขังที่บ้าน (House Arrest) เพื่อไม่เป็นการปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมพร้อมให้การสนับสนุนหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาผ่านกลไกของกองทุนยุติธรรม ส่วน กสม. จะให้การสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป