เลขาฯ กกต. เป็น ปธ.จัดอบรมภาคีเครือข่ายประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้รณรงค์เลือกตั้ง พร้อมเตือน ขรก. ระวังใช้ตำแหน่งหน้าที่ ให้คุณให้โทษ ว่าที่ผู้สมัคร-พรรคการเมือง-ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะลงหาเสียงเลือกตั้ง
วันนี้ (19 ม.ค.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.เป็นประธานเปิดการอบรมให้ความรู้แก่ภาคีเครือข่ายประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัด รุ่นที่ 1 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) 20 จังหวัด ได้แก่ จ.หนองคาย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และ อุบลราชธานี เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติ กฎหมาย กฎระเบียบที่ปรับปรุงเปลี่ยนไปตามห้วงเวลา และเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดในการพัฒนาการประชาสัมพันธ์ของภาคีเครือข่าย โดยผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ผู้บริหาร พนักงาน ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ตัวแทนสื่อมวลชนจังหวัดภาคเอกชน และตัวแทนสื่อมวลชนภาครัฐ จังหวัดละ 3 คน รวมผู้เข้าอบรมจำนวน 60 คน ณ โรงแรมอัศวรรณ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวในการบรรยาย เรื่อง การมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ส.ส. และกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อเพิ่มจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.
นายแสวง ยังให้สัมภาษณ์กรณีสั่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ จับตาการลงพื้นที่หาเสียงของรัฐมนตรี พรรคการเมือง และผู้สมัคร หากพบมีการกระทำที่เข้าข่ายขัดกฎหมายให้รายงานทันที ว่า ตามกฎหมายขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ให้มีการหาเสียงได้ ในส่วนของตัวบุคคล อาจยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการสมัครหรือไม่ แต่ก็ต้องเก็บเป็นข้อมูลไว้ ถ้ามีการสมัครก็ต้องนำข้อมูลมาพิจารณา แต่หากเป็นการกระทำของพรรค ถือว่าเกี่ยวข้องกับผู้สมัครอยู่แล้ว การสั่งการดังกล่าว จึงเป็นการเตรียมข้อมูลของ กกต. ที่ต้องการให้การเลือกตั้งมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และในข้อเท็จจริงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดจะทราบและติดตามความเคลื่อนไหวของว่าที่ผู้สมัครในพื้นที่อยู่แล้ว เพราะเป็นหน้าที่แต่ก็ได้กำชับว่าหากมีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงเป็นปัญหาก็ให้มีการรายงานมายังตนทันที แต่ถ้าเป็นลักษณะปกติ ก็ให้เก็บเป็นข้อมูลไว้ ในอดีตการหาเสียงจะมีความเข้มข้นหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้กฎหมายเปลี่ยนไปกำหนดให้สามารถหาเสียงได้ในช่วง 180 วัน ก่อนครบวาระ แต่ความเข้มข้นของการหาเสียงอาจจะยังไม่มาก ประกอบกับผู้สมัครยังไม่ทราบเรื่องของเขตเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไรทำให้การหาเสียงยังไม่มีอะไรที่ถึงขั้นละเมิดกฎหมาย แต่ก็อาจจะมีการกระทำที่หมิ่นเหม่ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดก็จะมีการแนะนำว่าที่ผู้สมัครในพื้นที่อยู่แล้วว่าอะไรทำได้ไม่ได้ และส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่ว่าผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆเมืองต่างเข้าใจกฎหมายดี
“ช่วงนี้อาจจะมีการลงพื้นที่ถี่ ก็ไม่อยากให้ใครครหาว่า กกต.ทำหน้าที่หรือไม่ในการดูแลรักษากติกาการแข่งขัน ซึ่งถ้าท่านไปทำหน้าที่ตามปกติก็ไม่เป็นไร แต่จริงๆ ที่ลงไปไม่ใช่แค่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นที่ต้องระวัง ข้าราชการในพื้นที่ก็ต้องระมัดระวังเช่นกันเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องอย่าใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการให้คุณให้โทษกับผู้สมัครหรือพรรคการเมือง”