xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.กฎหมายฯ ร้อง “บิ๊กตู่” หวั่น พ.ร.บ.อุ้มหายฯ บังคับใช้ไม่ทัน 22 ก.พ.ของบกลาง 3 พัน ล.ซื้ออุปกรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.กฎหมายฯ ร่อนหนังสือถึง “ประยุทธ์” กังวล พ.ร.บ.อุ้มหายฯ บังคับใช้ไม่ทัน 22 ก.พ. เผย อาจต้องใช้งบกลาง 3 พัน ล. ซื้ออุปกรณ์จำเป็น ส่วน มท.- อสส.อีก 100 ล.

วันนี้ (19 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม กมธ.เมื่อวันที่ 18 มกราคม ว่า กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า การบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ถือเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเป็นการกำหนดมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

นายอาดิลัน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการประชุมคณะอนุ กมธ.ศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในกมธ.การกฎหมายฯ ร่วมกับผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงกลาโหม และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้แจ้งว่ามีความพร้อมให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

นายอาดิลัน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า สตช.ได้มีหนังสือแจ้งปัญหาขัดข้องในการปฎิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฉะนั้น กมธ.จึงมีข้อห่วงใยในกรณีดังกล่าว โดยขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการบังคับใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยในวันนี้ ทาง กมธ.ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงข้อกังวลว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจจะบังคับใช้ไม่ทันภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงงบประมาณที่ต้องใช้ โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งงบประมาณที่จำเป็น เบื้องต้นประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท สำหรับการซื้อและติดตั้งกล้องวงจรปิด รวมถึงกล้องสำหรับเจ้าพนักงาน และกล้องที่ติดตามสถานที่ที่จำเป็นของสถานีตำรวจ ส่วน อสส. และ กระทรวงมหาดไทย จำเป็นต้องใช้ประมาณ 100 กว่าล้านบาท เบื้องต้นในที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรต้องขออนุญาตใช้งบกลาง สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนี้ โดยทุกหน่วยงานรับทราบว่าจะต้องไปปฏิบัติอย่างไร

นายอาดิลัน กล่าวต่อว่า ในส่วนของกล้องติดตามตัวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกังวลนั้น แม้กฎหมายฉบับนี้จะกำหนดว่าให้ต้องบันทึกภาพเสียงทันที ตั้งแต่เป็นการควบคุมตัว จนกระทั่งปล่อยตัวกลับ หรือนำส่งพนักงานสอบสวน แต่กรณีความผิดซึ่งหน้า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างทาง แล้วอาจไม่ต้องบันทึกภาพเสียงก็ได้ เพราะเป็นเหตุจำเป็น มีข้อยกเว้นตามกฎหมายอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น