รองโฆษกรัฐบาล อัปเดตความคืบหน้าการพัฒนาระบบรางทุกโครงการ รถไฟฟ้าใน กทม. และปริมณฑล ตามแผน 554 กม. เปิดแล้ว 11 เส้นทาง 212 กม. ปี 66 เตรียมเปิดอีก 2 สาย สีชมพู-เหลือง รวม 70.30 กม. รถไฟทางคู่ทั่วประเทศปีนี้เปิดเฟสเร่งด่วนครบ 7 เส้นทาง 993 กม.
วันนี้ (18 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มุ่งมั่นพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึง โดยหนึ่งในระบบที่มีการเร่งรัดลงทุนตลอดระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน โครงข่ายการขนส่งทางราง เพื่อสนับสนุนการเดินทางในเมือง การเดินทางระหว่างเมือง และการขนส่งสินค้า
สำหรับระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามแผนการพัฒนาของรัฐบาลทั้งสิ้น 554 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้ว 7 สี 11 เส้นทาง รวม 212 กม. เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีทอง สายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมี 4 สาย ระยะทางรวม 114 กม. ซึ่งในนี้มี 2 สาย รวมระยะทาง 70.30 กม. ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 66 คือ สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง/แยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน ระยะทาง 33 กม. เปิดบริการ เม.ย. 66 และ สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี/ศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 37.30 กม. เปิดบริการเดือน ก.ค. 66 ส่วนอีก 2 เส้นทาง คือ สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. เปิดบริการ ธ.ค. 68 และ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ พญาไท-ดอนเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มีกำหนดเปิดให้บริการปี 71
นอกจากนี้ มีโครงการที่ยังไม่เริ่มก่อสร้างแต่อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการมี 4 โครงการ รวมระยะทาง 93 กม. ได้แก่ สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง/รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมาก/ตลิ่งชัน-ศาลายา/ตลิ่งชัน-ศิริราช อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) และ สายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคา และที่เหลืออีก 134 กม. เป็นโครงการรถไฟฟ้า 8 สาย อยู่ในแผนการพัฒนาระยะต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ระหว่างปี 2560-2569 รัฐบาลได้มีแผนการพัฒนาทั่วประเทศรวมระยะทาง 3,157 กม. แยกเป็น 1) โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 3 เส้นทาง ส่วนอีก 4 เส้นทางอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการครบทั้งหมดในปี 66 ประกอบด้วย เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน และ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร
2) โครงการรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 681 กม. ซึ่งผ่านการอนุมัติของ ครม. ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเวนคืนพื้นที่เพื่อดำเนินการลงทุนตามขั้นตอนต่อไป ประกอบด้วย เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินลงทุน 85,343.96 ล้านบาท และเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. เงินลงทุน 66,846.53 ล้านบาท 3) รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินการในช่วงปี 65-69 ใน 7 เส้นทาง รวม 1,483 กม. ทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนของการขออนุมัติโครงการ/พิจารณาผลการศึกษาผลกรทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และจะทยอยนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกเหนือจากโครงการที่มีการกำหนดรายละเอียดและเข้าสู่กระบวนการดำเนินการตามขั้นตอนทั้ง 3 ส่วนข้างต้นแล้ว การพัฒนารถไฟทางคู่ยังมีแผนการพัฒนา สำหรับระยะที่ 3 ปี 70-79 และรถไฟสายใหม่ระยะถัดไปอีก 12 เส้นทางด้วย
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงทุนช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จปี 69 ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงินลงทุน 318,137.17 ล้านบาท อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด