รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย “อนุทิน” ขอบคุณพี่น้อง อสม. เป็นกองหน้าดูแลสุขภาพคนไทย
ย้ำ นโยบายสาธารณสุขดูแลและมอบสวัสดิการสอดคล้องกับภารกิจต่อเนื่องทั้งช่วงมีโควิด-19 และสถานการณ์ปกติ
วันนี้ (12 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยได้ประกาศปรับระดับโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังมาตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ให้การติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิดซึ่งในภาพรวม ณ ขณะนี้ถือว่ายังคงดีขึ้นโดยต่อเนื่อง โดยรายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค วันที่ 1-7 ม.ค. 66 ระบุว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยรายใหม่ 997 คน หรือเฉลี่ยวันละ 142 คน ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน หน่วยงานของรัฐ เอกชน ภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข
รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า ความสำเร็จในการบริหารจัดการโควิด-19 ของไทย มีส่วนสำคัญจากการทำงานหนักของบุคลากรทุกระดับรวมถึงพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นกองหน้าในการช่วยดูแลสุขภาพคนไทยไปถึงชุมชนระดับฐานรากทั้งในช่วงเกิดโรคระบาดและสถานการณ์ปกติ
“รองนายกรัฐมนตรีขอบคุณพี่น้อง อสม. ที่ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ในการดูแลคนไทยมาโดยตลอด เป็นด่านหน้าคนแรกๆ ที่เข้าไปดูแลคนชุมชนหรือพื้นที่ห่างไกล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้อง อสม. จึงได้เน้นย้ำถึงนโยบายการดูแลและมีสวัสดิการเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ อสม. ทั่วประเทศให้ต่อเนื่องสอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ปกติ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีสวัสดิการที่เป็นขวัญกำลังใจแก่ อสม.และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) 1,050,306 คน อยู่หลายด้านด้วยกัน อาทิ ค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้เพิ่มเติมอีกเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง ตั้งแต่ มี.ค. 63 - ก.ย. 65 รวมกว่า 15,000 ล้านบาท มีสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพตามรายการตรวจสุขภาพประจำปี ภายใต้ระเบียบสาธารณสุข ว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล เพื่อให้ อสม. ได้รับการตรวจสุขภาพตามช่วงวัย อาทิ การประเมินคัดกรองความดันโลหิต, ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (Thai CV risk score), ภาวะซึมเศร้า,ภาวะเครียด สำหรับผู้มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เพิ่มการตรวจความเข้มข้นระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) ตรวจอุจจาระ (Stool examination) สำหรับผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงพยาธิใบไม้ตับ และกรณีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับบริการประเมินภาวะถดถอย 9 ด้านด้วย
นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการค่าห้องพิเศษและอาหารพิเศษ ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล ที่กำหนดให้ อสม. ทุกคนเมื่อเข้าพักรักษาตัวในสถานพยาบาลของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะได้รับการยกเว้นค่าห้องพิเศษและอาหารพิเศษ ส่วนกรณีบุคคลในครอบครัวของ อสม. ให้ได้รับสิทธิช่วยเหลือร้อยละ 50 มีสวัสดิการจากมูลนิธิ อสม. ไทย กรณีประสบอุบัติเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท, ทุพพลภาพ 3,000 บาท และเยียวยา 1,000-2,000 บาท เงินช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบการปฏิบัติหน้าที่ทั้งโดยตรงและทางอ้อม โดยการยื่นคำขอผ่านหน่วยงานต้นสังกัดมายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตลอดจนสิทธิฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม. เป็นต้น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ อสม. ให้สามารถสนับสนุน “นโยบาย 3 หมอ” โดย อสม. จะเป็นหมอคนแรกที่ดูแลสุขภาพคนไทย ก่อนส่งต่อไปยังหมอคนที่ 2 คือ บุคลากรในสถานบริการปฐมภูมิ และหมอคนที่ 3 แพทย์ในโรงพยาบาลต่อไป ซึ่งส่วนหนึ่งของการพัฒนานี้มีการดำเนินการคัดเลือก อสม. หรือทายาทของ อสม. เข้าร่วมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 3,000 คน โดยการร่วมมือของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสถาบันพระบรมราชชนกด้วย