xs
xsm
sm
md
lg

“ทิพานัน” โชว์รัฐบาล “ประยุทธ์” ให้ความสำคัญ MSMEs มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทิพานัน” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โชว์รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ความสำคัญ MSMEs มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งเสริมแหล่งทุน-ช่องทางขาย-ขยายวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์-ดันดิจิทัล
พาไทยเติบโตสู่ตลาดโลก


น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 1/2566 ว่า ในปี 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (Micro, Small and Medium-sized Enterprises : MSME) พบว่า เป็นความสำเร็จที่จำนวนวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง มี 3.21 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.55 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67 เมื่อพิจารณาขนาดวิสาหกิจ แบ่งเป็น รายย่อย (Micro-sized Enterprises) 2,742,416 รายคิดเป็นร้อยละ 85.74, ขนาดย่อม (Small-sized Enterprises) จำนวน 412,962 รายคิดเป็นร้อยละ 12.91 และขนาดกลาง (Medium-sized Enterprises) จำนวน 43,106 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.35 โดยในปี 2564 มูลค่า GDP ของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางมีจำนวน 5.60 ล้านล้านบาท และคาดขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 คิดเป็นมูลค่า GDP ของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางปี 2565 จำนวน 6.02 ล้านล้านบาท

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากมูลค่า GDP ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในปี 2565 กลุ่ม MSMEs วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางยังมีจำนวนการจ้างงานสูงถึง 12.60 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71.75 ของการจ้างงานทั้งประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจึงเดินหน้าส่งเสริม MSMEs อย่างเต็มที่เพราะเป็นเครื่องจักรสำคัญในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เช่น จัดทำฐานข้อมูล Big Data การสนับสนุนแหล่งทุนในรูปแบบต่างๆ การสนับสนุนเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อรายใหญ่กับผู้ขายรายย่อย และที่สำคัญคือ ความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเอเปค 2022 โดยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ประสานความร่วมมือและผลักดันให้ MSMEs วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางเป็นประเด็นพัฒนาร่วมกัน กับเอเปคที่มี 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม โดยประชากรรวม 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันและมูลค่าการค้ารวมกันเกินครึ่งของโลก เป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ของโลกยอมรับใน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว” (Bangkok Goals on BCG Economy) และมุ่งมั่นสนับสนุนสินค้าและการค้าการลงทุนของ MSMEs ในตลาดต่างประเทศ ดังนั้นทิศทางของรายได้และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของไทยจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น มีอนาคตที่ดีในตลาดการส่งออกต่างประเทศ

“ที่ผ่านมา รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมทั้งทางด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ การหาช่องทางจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการโดยพัฒนาระบบ SME One ID ที่เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและให้บริการประชาชน ดังนั้นไม่มีรัฐบาลใดให้ความสำคัญกับ MSMEs แบบรัฐบาลนี้ เพราะท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งใจทำอย่างมุ่งมั่นเพื่ออนาคต ให้ MSMEs ไทยเติบโตและสามารถเข้าไปสู่ห่วงโซ่ของธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถเป็นกลไกที่สำคัญที่จะนำพาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า” น.ส.ทิพานัน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น