“ธนกร” ชูความสำเร็จนายกฯ จัดการประชุม APEC ของไทย หนุนศักยภาพการเจรจาธุรกิจ ส่งผลเพิ่มการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวในไทย ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว ภาคเอกชนคาด 3-5 ปีข้างหน้า เงินสะพัด 5-6 แสนล้านบาท
นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2565 ของไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ย้ำถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยสำหรับการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้วางยุทธศาสตร์ชาติและเดินหน้ามาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล 5G แรงงานที่มีทักษะสูงและส่งเสริมภาคบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข การท่องเที่ยว ทั้งนี้ ผลลัพธ์การประชุมภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” มุ่งพัฒนาความร่วมมือ APEC ให้เป็นเขตการค้าเสรี อำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน และปลอดภาษี เพื่อให้สมาชิกเอเปกสามารถนำเข้าส่ง-ส่งออกในเขตเศรษฐกิจได้สะดวกมากขึ้น ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างความพร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต รวมทั้งผลักดันกรอบแนวคิด BCG ให้ 20 เขตเศรษฐกิจยอมรับนำไปขับเคลื่อนต่อ
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนต่างประเทศ มองว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม BCG พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้น เห็นได้จากในการประชุม APEC CEO SUMMIT 2022 ของภาคเอกชน มีการคาดการณ์ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับระยะยาว (ภายใน 3-5 ปี) เช่น การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ มีการลงทุนซึ่งกันและกันในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมสีเขียว และการลงทุนเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะทางราง คาดว่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนล้านบาท การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (GCC) โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 12 อุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี เกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพและบริการในพื้นที่ EEC ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 1-3 แสนล้านบาท การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ยานยนต์ใฟฟ้า และพลังงานทดแทนที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล E-commerce และ Robot ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท การลงทุนในธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพและความงาม และโลจิสติกส์ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท
“ขณะนี้ไทยกำลังเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางอ้อมระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นใน 3-5 เดือนนี้ ซึ่งถือว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล หลังการประชุมเอเปค คือ การประชาสัมพันธ์ Soft Power อัตลักษณ์ความเป็นไทย ทั้งอาหาร มวยไทย สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ กำลังได้รับความนิยมช่วยให้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น 1-2 แสนคน สร้างรายได้ทั้งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องประมาณ 10,000 ล้านบาท รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย ฝรั่งเศส ที่ร่วมการประชุมเอเปก 2022 ในฐานะแขกพิเศษ ช่วยเปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งการท่องเที่ยว แรงงาน การค้าและการลงทุน ทำให้วันนี้ไทยกำลังกลายเป็นโมเดลความสำเร็จที่หลายประเทศให้ความสนใจ” นายธนกร กล่าว