รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลส่งเสริม Digital Startup เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มอบกรมบัญชีกลางจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล ปลื้มมูลค่าการลงทุนโต 64%ต่อปี
วันนี้ (16 ธ.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลทีมุ่งพัฒนาและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเร่งรัดพัฒนาระบบนิเวศที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาธุรกิจดังกล่าวโดยนับแต่ปี 2559 มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ทำให้เกิดการเติบโตของ Digital Startup ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในปี 59 มีมูลค่าการลงทุนในประเทศประมาณ 3.32 พันล้านบาท และในปี 65 มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.89 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 63.5 ต่อปี
และเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ล่าสุด เมื่อ 13 ธ.ค. รัฐบาลได้เห็นชอบให้กรมบัญชีกลางจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบการ Digital Startup ของไทย เข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเป็นหนึ่งในหมวดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดิจิทัลร่วมพัฒนาระบบราชการ มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
บริการดิจิทัล หมายถึงโปรแกรมบริการที่ใช้ในการให้บริการดิจิทัล แพลมฟอร์ม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าหรือบริการระหว่างผู้พัฒนาและผู้ใช้บริการ อาทิ Softwareบัญชี จัดคิวรอรับบริการ การให้บริการทางการ แพทย์ระบบทางไกล
Digital Startup หรือ วิสาหกิจเริ่มต้นดิจิทัล หมายถึง บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและเริ่มต้นดำเนินธุรกิจในไทยมาแล้วไม่เกิน 5 ปีในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัล
คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ขอขึ้นทะเบียน เช่น ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาหรือให้บริการ 1) โปรแกรมซอฟต์แวร์ในไทย หรือ 2) อุปกรณ์ด้านดิจิทัล หรืออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อัจฉริยะหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีนวัตกรรมในไทย หรือ 3)การให้บริการด้านดิจิทัล ซึ่งต้องได้รับการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิต หรือพัฒนา หรือบริการซอฟต์แวร์อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อัจฉริยะ และบริการดิจิทัลตามที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กำหนด
หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนที่สำคัญ เช่น บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลต้องสามารถใช้บริการได้จริงครบถ้วนในทุกฟังชั่นการใช้งาน ต้องมีผู้ใช้บริการแล้วหรือมีผลการใช้งานจากผู้บริโภค กำหนดราคาค่าบริการที่มีรายละเอียดชัดเจน
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า รัฐบาลมุ่งส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อให้เป็นเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทีผ่านมา ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุน ผ่าน 4 มาตรการหลัก คือ การผลักดันด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลงานนวัตกรรม มาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่มีการอนุมัติโครงการค้ำประกันผู้ประกอบการดิจิทัล มาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และการสร้างความเชื่อมั่นผ่านระบบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและยืนยันการมีตัวตน