xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกรัฐบาลย้ำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566” เพื่อให้ประชาชนวางแผนการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566” เพื่อให้ประชาชนวางแผนการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ (11 ม.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพื่อประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม เกี่ยวกับมาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566” เพื่อให้ประชาชนไปหักลดหย่อนภาษีจากค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ และเพื่อกระตุ้นและรักษาการบริโภคในประเทศ ส่งผลถึงเศรษฐกิจภาพรวม รัฐบาลเชื่อมั่นจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญถึงตัวเลขการจับจ่าย คาดจะมีตัวเลขหมุนเวียนถึง 56,000 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่ามาตรการ ช้อปดีมีคืน ปี 2566 ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ในการกระตุ้นยอดขาย และให้ลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนภาษีด้วยค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยสามารถลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 30,000 บาท (จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบ กระดาษหรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับ อิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร) และ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท (จะต้องมีใบกำกับ ภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2566 ไม่รวมสินค้าและบริการ ดังต่อไปนี้
(1) ค่าสุรา เบียร์ และไวน์
(2) ค่าซื้อยาสูบ
(3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
(4) ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
(5) ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
(6) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
(7) ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
(8) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
(9) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ (1) เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ
(10) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ มาใช้ในการใช้สิทธิหักลดหย่อน

โดยต่อข้อสงสัยที่หากเป็นการซื้อขายที่มีสัญญาใช้บริการระยะยาว มีระยะเวลาสัญญาเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุด หลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น ก็จะไม่สามารถนำค่าบริการส่วนที่ใช้บริการนอกช่วงเวลา 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2566 มาหักลดหย่อนได้ รวมถึงกรณีชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ได้ใช้บริการหลัง วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ก็จะไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เช่นกัน

“รัฐบาลได้กำหนดและดำเนินมาตรการต่างๆ มุ่งหวังให้เกิดการใช้จ่าย เพิ่มยอดขาย กระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพ โดยถือเป็นปีแรกที่ขยายให้นำค่าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ มาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยว ซึ่งโฆษกรัฐบาลขอประชาสัมพันธ์มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566” เพื่อให้ประชาชนเช็กสิทธิตามมาตรการ วางแผนการจับจ่ายซื้อของในช่วงเวลานี้ คำนึงถึงความคุ้มค่า และประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม RD CALL CENTER โทร. 1161” นายอนุชา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น