"สภาพัฒน์" นัดเปิดความคืบหน้า จันทร์นี้ กระบวนการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่สงขลา/ปัตตานี ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ อ.จะนะ จ.สงขลา หลังตั้ง 21 คณะทำงาน ครบ 3 เดือน ตามกระบวนการจัดทำ SEA พ่วงงบประมาณ 28 ล้านบาท
วันนี้ (5 ม.ค.2566) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ กำหนดจัดการแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินงาน
"โครงการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี"
ในวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566 เวลา 10.30 – 11.30 น. ณ ห้องประชุม 521 อาคาร 5 ชั้น 2 สศช. โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นผู้แถลง
ปีที่แล้ว มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 13 ส.ค.2565 อนุมัติจัดสรรงบประมาณ 28 ล้านบาท ให้ สภาพัฒน์ว่าจ้างที่ปรึกษาหรือสถาบันการศึกษา ในการจัดทำรายงานประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)
สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ จ.สงขลาและปัตตานี ซึ่งครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
"แบ่งเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 14.11 ล้านบาท และเป็นการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2566–2567 อีกประมาณ 14 ล้านบาท"
มติ ครม.เดิม 14 ธ.ค.2564 ให้ สภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ จ.สงขลาและปัตตานี
ขณะที่ ได้ลงพื้นที่เพื่อประชุมกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่หลายครั้งตลอดปี 2564-2565
เมื่อ 23 ก.ย. 2565 มีคำสั่ง สภาพัฒน์ ที่ 210/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อม SEA พื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี อ้างตามมติ ครม.ข้างต้น
มีเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นประธานกรรมการร่วมกับ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีตัวแทน สำนักงบประมาณ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 21 คน เป็นกรรมการ
ให้ความเห็นจัดทำขอบเขตงานจ้างที่ปรึกษาจัดทำการประเมิน SEA รวมทั้งให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะการจัดทำ SEA พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อประกอบการจัดทำประเมิน SEA
คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ถือเป็นกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้างหน้าแห่งอนาคต”.
ล่าสุดเมื่อ 19 ธ.ค. 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ลงพื้นที่ตรวจและติดตามการขับเคลื่อนงาน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
หนึ่งในนั้น มีการรับรายงานความก้าวหน้าการจัดทำ SEA สำหรับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่กรณีอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยสภาพัฒน์ด้วย
ปลายปีที่แล้ว เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เปิดแถลงสาธารณะ 3 ประเด็น ต่อข้อกังวลต่อการดำเนินการจัดทำ SEA
"เห็นว่า นักวิชาการที่ถูกเลือกเข้าไปเป็นคณะกรรมการกำกับทิศ SEA บางคน คุณสมบัติ-ประวัติทางวิชาการมีปัญหา รับไม่ได้ และ สัดส่วนนักวิชาการ รับใช้รัฐ-ทุน มากจนทำให้คณะกรรมการฯ ไม่น่าเชื่อถือ"
โดยมีข้อเสนอ ว่า ผู้จัดทำ SEA ควรเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่เข้าใจบริบทพื้นที่ มากกว่าบริษัทที่ปรึกษาเอกชน.
สำหรัล โครงการเมืองต้นแบบ 4 หรือโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ผุดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ครม.อนุมัติให้มีการขยายโครงการฯ ไปสู่เมืองที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา
ซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช. อนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมอบอำนาจให้ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการเมื่อปี 2559
โครงการนี้ใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จำนวน 16,753 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยอ้างว่าจะจัดสรรพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม 6 ประเภท
ได้รับการต่อต้านจากคนในพื้นที่ในนาม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โดยมีการเคลื่อนไหวคัดค้านหลากหลายรูปแบบทั้งในพื้นที่รวมถึงการชุมนุมในกรุงเทพฯ
โดยเฉพาะในรอบปีที่ผ่านมา จนที่สุดเกิดเป็นข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลที่จะใช้ SEA เป็นทางออกการแก้ปัญหาร่วมกัน และให้สภาพัฒน์ฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ
นำมาสู่การติดตามอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบการดำเนินการของสภาพัฒน์ฯ ในการจัดทำ SEA ในทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิดของเครือข่ายฯ.