วันนี้ (24 ธ.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียม 14 โครงการใหญ่ ที่พร้อมขับเคลื่อนทันที เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 แด่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ และจะเป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป รวมถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน โดยเป็นการดำเนินงานของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.)
มีโครงการสำคัญดังนี้
ด้านการผลักดันจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ “มหานครแห่งอาหารและบริการฮาลาล สู่ ตลาดโลก” มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหลักในการดำเนินการและจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการในเรื่อง
1. การเพิ่มจำนวนฐานแม่วัวพันธุ์พื้นเมือง รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ตัว
2. การเพิ่มจำนวนฐานแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์แพะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 ตัว
3. ขับเคลื่อนเมืองปูทะเลโลก แบบครบวงจร เพิ่มจำนวนลูกปูเพาะพันธุ์ได้เองในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 50,000,000 ล้านตัว ครัวเรือน/กลุ่มอาชีพ มากกว่า 100 กลุ่ม และการท่องเที่ยวชุมชน 10 ชุมชน
4. เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ พืชพลังงานและผลไม้รองรับการพัฒนาภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่
ด้านการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ได้แก่
5. สนับสนุนอาหาร วิตามินเสริม และบริการทางสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มสุขภาวะของประชาชน จำนวน 4.6 หมื่นราย
6. สนับสนุนอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตามโครงการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้องเพื่อร่วมสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,875 แห่ง 1.7 แสนคน
7. ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาตุรเครีย แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับการประกอบอาชีพ และผู้ที่ประสงค์จะไปศึกษา และทำงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เชื่อมโยงกับกับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกมุสลิมไม่น้อยกว่า 4 หมื่นราย
8. แก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนที่ยั่งยืน 5 ด้าน (ฐานข้อมูล TPMAP) ไม่น้อยกว่า 1,200 ครัวเรือน
ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน
9. สนับสนุนงบประมาณแก่ผู้นำท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของหมู่บ้าน-ชุมชน ทุกหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้
10. ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานให้แก่องค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 200 องค์กร
11. จัดตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา เทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ด้านการเสริมสร้างพหุสังคมที่เข้มแข็ง ได้แก่
12. การจัดวิ่งตามภูมิศาสตร์ “Amazean Jungle Trail Edition”
13. ปฏิทินประเพณีวัฒนธรรม ๑๒ เดือน
14. การซ่อมแซมและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดที่มีอายุเกิน ๑๐๐ ปี โบราณสถาน ศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์ เพื่อการเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยว
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ทุกโครงการที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน มุ่งเป้าการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย รายได้เพิ่ม และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใต้วิถีสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังรวมถึงการเผยแพร่การรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในศักยภาพของความเป็นจังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย