xs
xsm
sm
md
lg

“เพจดัง” แซว “ชัชชาติ” ไม่ทำต่อเรือไฟฟ้าคลองผดุงฯ “ขี้เกียจเก็บขยะ” “อัษฎางค์” ชี้กลัว “อัศวิน-บิ๊กตู่” ได้ผลงาน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ความสวยงามและมีเสน่ห์ กลางกรุง ที่ใครบางคนอาจมองไม่เห็น ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD
เป็นเรื่อง! ปม “ชัชชาติ” ไม่ทำต่อ เดินเรือไฟฟ้าชมคลองผดุงกรุงเกษม ที่ทุ่มทุนไปแล้วกว่าร้อยล้าน อ้างไม่มีกำไรแถมขาดทุน “เพจดัง” แซวเจ็บ “ขี้เกียจเก็บขยะ” “อัษฎางค์” ไม่เม้ม หรือกลัว “อัศวิน-ประยุทธ์” ได้ผลงาน?

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (4 ม.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ภาพวิวทิวทัศน์ความสวยสดงดงามของคลองผดุงกรุงเกษม และการเดินเรือไฟฟ้า พร้อมระบุว่า

“มีกีบขำ ใครเขาจะนั่งเรือชมคลองกัน
ก็ถือว่ามีในยุคอัศวินละกัน ยุคชัชช่าไม่ต้องทำ มันไม่คุ้ม
ไปนั่งรถบัสกันดีกว่า”

ภาพ เรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD
ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ภาพ กรณีผู้ว่าฯ กทม. จะไม่ทำต่อ โครงการเดินเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม พร้อมระบุว่า
“ต่างชาติกำลังแห่มาเที่ยวกรุงเทพ

การมีเรือไฟฟ้าชมคลอง เป็นอีกทางเลือกการเดินทางที่น่าสนใจ

ทำไมต้องไปเพิ่มรถบนถนน เพราะเรือถูกออกแบบมา
ให้ช่วยลดปัญหาการจราจรบนท้องถนนอยู่แล้ว

อ้อ ลืมไป ท่านคงขี้เกียจเก็บขยะในคลอง 😂”

ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ของนายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า

“การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยการการบริหารงานสาธารณะ”

การบริหารงานสาธารณะไม่ใช่การบริหารธุรกิจ

ผมดูข่าวมีคมคุณสันติสุขเมื่อเช้ารายงานว่า ผู้ว่าชะชะช่าจะเลิกการเดินเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งผู้ว่าอัศวินและรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เริ่มต้นไว้ด้วยต้นทุนร้อยกว่าล้านบาท

ด้วยเหตุผล ไม่มีกำไรแถมขาดทุน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คุณหนุ่มจึงถามถึง การเดินรถไฟหรือรถเมล์ ซึ่งขาดทุนมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว ควรจะเลิกกิจการด้วยหรือไม่ เพราะเป็นกิจการที่ขาดทุนมาตั้งแต่ชาติก่อนจนถึงปัจจุบันนี้

ผมขอเสริมว่า เมื่อ BTS เริ่มเปิดให้บริการ ก็มีคนมาใช้บริการน้อยและขาดทุนอยู่นานหลายปี แต่ BTS ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ก็ยังเข้าใจว่า นี่คือ งานบริการสาธารณะที่ได้รับสัมปทานมาจาก กทม. ทำให้ BTS ไม่คิดเลิกกิจการ แต่ดำเนินการต่อมาจนประสบผลสำเร็จอย่างดงาม และสร้างความพอใจในบริการให้กับประชาชนมาจนในปัจจุบัน

แต่เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ กทม.เพิ่งเปิดดำเนินการมาได้ไม่เท่าไหร่ พอเปลี่ยนผู้ว่าฯ ก็ถูกยกเลิกเสียแล้ว ด้วยเหตุผลว่า มีผู้ใช้บริการน้อย ไม่คุ้มทุน !

จริงๆ คุณหนุ่มพูดในรายการข่าวได้ครบไปแล้ว แต่ผมอยากเสริมว่า

คนที่เรียนบริหารธุรกิจและทำงานในภาคเอกชน เขาจะคำถึงถึงผลประกอบการด้วยกำไรขาดทุน

แต่คนที่เรียนรัฐประศาสนศาสตร์ หรือบริหารรัฐกิจและทำงานบริหารราชการแผ่นดิน ต้องคำนึงถึงงานบริการสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องกำไรขาดทุน

ภาพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จะไม่ทำต่อโครงการเดินเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม - ภาพจากเพจ MGROnline Live
คุณเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หรือจะเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วคุณบริหารงาน โดยวิธีคิดจะเอากำไรจากพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้งหรือ

ไหนตอนหาเสียง บอกว่า อาสามารับใช้ประชาชน

งานบริหารสาธารณะคืออะไร
ผมจะเล่าให้ฟัง

การบริการสาธารณะเป็นกิจการที่อยู่ในกํากับดูแลของฝ่ายปกครอง ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาลท้องถิ่นหรือรัฐบาลกลาง โดยมีหน้าที่ในการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อสนองความต้องของประชาชนส่วนรวมเป็นหลัก

***ทั้งนี้ การจัดทําบริการสาธารณะก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและเศรษฐกิจ***

อ้าว ไหนว่าเรียกร้องเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมไง แล้วพวกคุณเลือกคนที่ไม่สนใจงานที่จะลดความเหลื่อมล้ำมาบริหารราชการหรือ?

การลดปัญหาความเหลื่อมล้ําและช่องว่างทางสังคมเป็นภารกิจของรัฐที่ต้องจัดทําขึ้น เพื่อสนองความต้องการของประชาชนโดยส่วนรวม

บริการสาธารณะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. บริการสาธารณะปกครอง เช่น การดูแลความปลอดภัยและความสงบสุขของชุมชน ซึ่งรัฐหรือฝ่ายปกครองจัดทําให้ประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน

2. บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น การแสดงนาฏศิลป์ พิพิธภัณฑ์ การกีฬา การศึกษาวิจัย ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่มุ่นเน้นการแสวงหากําไรเช่นกัน

3. บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม คือ บริการสาธารณะที่เน้นทางด้านการผลิต การจําหน่ายและการให้บริการ ซึ่งมีลักษณะดังนี้

(1) การบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น มีวัตถุแห่งบริการด้านเศรษฐกิจเหมือนกับวิสาหกิจเอกชน คือ เน้นทางด้านการผลิต การจําหน่าย การให้บริการ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการของเอกชน

(2) แหล่งที่มาของเงินทุน บริการสาธารณะทางปกครองจะมีแหล่งที่มาของเงินทุน จากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินทุนทั้งหมดที่นํามาใช้จ่ายในการดําเนินการ

ส่วนบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น แหล่งรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากค่าตอบแทนการบริการของผู้ใช้บริการ

(3) ผู้ใช้บริการ สถานภาพของผู้ใช้บริการสาธารณะทางปกครองนั้นจะถูกกําหนดโดยกฎข้อบังคับทั้งหมด ซึ่งรวมตั้งแต่การกําหนดองค์กร การจัดองค์กรและการปฏิบัติงาน ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการสาธารณะประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มี เงื่อนไขและไม่เท่าเทียมกัน

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการของบริการสาธารณะทาง อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจะมีลักษณะเสมอภาคกัน เพราะถูกกําหนดโดยสัญญาตามกฎหมายเอกชน

ภาพ โครงการเดินเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษมที่จะเป็นอดีตในเวลาอันรวดเร็ว ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD
ดังนั้น การบริการสาธารณะจึงเป็นการดําเนินการในกํากับดูแลของฝ่ายปกครอง ที่จัดทําเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนทุกคน ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย การทํางาน การมีรายได้ รวมถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการบริการทางสังคม
โดยรัฐหรือฝ่ายปกครองต้องดําเนินการให้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ เพื่อสนองตอบต่อความจําเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม

***อันจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ําของสังคมและรายได้***

รวมถึงทําให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น เมื่อผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณะต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและมีคุณภาพ ก็จะทําให้บุคคลเหล่านั้นสามารถพัฒนาตนเองให้เจริญเติบโตเป็นทรัพยากรของชาติที่มีคุณภาพต่อไป

การจัดทําบริการสาธารณะจึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดําเนินการตามหลักนิติธรรม นั้นคือ***หลักว่าด้วยความเสมอภาค***

ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่สําคัญประการแรกในการจัดทําบริการสาธารณะ

ทั้งนี้ เนื่องจากการที่รัฐเข้ามาจัดทําบริการสาธารณะนั้น รัฐมิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะจัดทําบริการสาธารณะขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ

***ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติ หรือได้รับผลประโยชน์จากบริการสาธารณะอย่างเสมอภาคกัน***

นี่แหละครับ เรื่องของ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่คนสามนิ้วไม่เคยเข้าใจ

ถ้าคุณจะเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคหรือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คุณต้องเรียกร้องกับการบริหารงานสาธารณะจากผู้ว่าฯ กทม.หรือนายกรัฐมนตรี

ไม่ใช่การเรียกร้องให้เรียนทุกคนได้เรียนในมหาวิทยาลัยดังเหมือนกัน หรือเรียกร้องให้ทุกคนรวยเท่ากัน เสียภาษีเท่ากัน

แต่มันคือการได้รับผลประโยชน์จากการบริหารงานสาธารณะจากภาครัฐ (ทั้งจากท้องถิ่นเช่น กทม. หรือส่วนกลางจากรัฐบาล) โดยเท่าเทียมกัน

ตกลงเลิกให้บริการเรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ด้วยความไม่เข้าใจในเรื่องการบริหารงานสาธารณะหรือเพราะเรื่องการเมือง หรือทั้งสองเรื่อง ครับท่าน

ทำต่อไปก็กลัวว่าเมื่อประสบผลสำเร็จก็จะกลายเป็นผลงานที่ผู้ว่าอัศวินและรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ริเริ่มไว้ ล้มมันซะก่อนเลย หมดเรื่องหมดราว จบข่าวครับท่าน”

แน่นอน, สิ่งที่น่าคิด มากกว่าข้ออ้าง ที่จะทำต่อ หรือไม่ทำต่อ ก็คือประเด็นทางการเมือง หรือ “เครดิต” ทางการเมือง เป็นของใคร

นี่คือ “ปัญหาใหญ่” อีกอย่าง ของ นักการเมืองไทย ไม่ว่า ระดับชาติ หรือ ระดับท้องถิ่น

แทนที่ ผู้อาสาเข้ามาทำงานเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ จะอุทิศตนทำงาน “เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน” กลับเอาผลประโยชน์การเมืองที่ตัวเองจะได้รับ มาเป็นตัวนำ และไม่สนใจว่า สิ่งที่นักการเมืองคนก่อนทำเอาไว้ ดีหรือไม่ อย่างไร วันดีคืนดีอยากจะยกเลิกก็ยกเลิก ไม่ทำต่อ เพราะไม่ใช่โครงการที่ตัวเองริเริ่ม ไม่ใช่ผลงานตัวเองที่จะเอาความสำเร็จไปหาเสียงได้เต็มปากเต็มคำ

ยิ่ง “ผลงาน” การริเริ่มมาจากฝ่ายตรงข้ามด้วยแล้ว ยิ่งง่ายที่จะยกเลิก โดยไม่สนใจเงินภาษีประชาชนที่ทุ่มทุนลงไปแล้วนับร้อยล้าน อย่าง โครงการเดินเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม

แค่เริ่มมาไม่เท่าไหร่ ก็จะอ้าง “กำไร-ขาดทุน” เพื่อยกเลิกแล้ว ก็นับว่าน่าเสียดาย?


กำลังโหลดความคิดเห็น