xs
xsm
sm
md
lg

“สุพิศ” งานเข้าต่อเนื่อง! เอกสารว่อน ป.ป.ท.-ป.ป.ช.สั่งสอบหลังถูกร้องส่อทุจริตหลายโครงการปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเอกสารหนังสือ ป.ป.ท.- ป.ป.ช.สั่งต้นสังกัดกรมฝนหลวงฯ ตรวจสอบ “สุพิศ” กรณีโดนร้องปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส ช่วงปี 65 ทั้งจัดซื้อเครื่องบินขนาดเล็ก ปรับปรุงอาคารที่ทำการ สร้างพิพิธภัณฑ์พระบิดาฝนหลวง มูลค่ากว่า 500 ล.

วันนี้ (30 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับเอกสารเปิดเผยเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีปัญหา เสนอนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินการเกษตร ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 หลังจากออกมาให้ข้อมูลทักท้วงว่าการเสนอชื่อนายสุพิศ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมฝนหลวงคนใหม่ดังกล่าว เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่องจากวงในต่างทราบกันดีว่า นายสุพิศ มีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนทางวินัยตามระเบียบของทางราชการ ทั้งจาก ป.ป.ท. สตง. ป.ป.ช. ดีเอสไอ และ สตง. มาแล้วตั้งแต่สมัยยังทำหน้าที่ ผอ.สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน และล่าสุด ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานหลายหน่วยงานดังกล่าวยังอยู่ระหว่างตรวจสอบฯ จึงมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะถูกเสนอและผลักดันจากฝ่ายการเมืองให้มีตำแหน่งใหญ่โตขึ้นนั้น

โดยล่าสุด ได้มีการเผยแพร่เอกสารสำคัญบางส่วน ซึ่งอ้างว่า เป็นหนังสือจากสำนักงาน ป.ป.ท.(สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ) ลงวันที่ 1 กันยายน 2565 ส่งถึงอธิบดีกรมฝนหลวง เรื่องขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารพยานหลักฐาน กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดฯ มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนเกี่ยวกับการจัดจ้าง 1. โครงการปรับปรุงที่ทำการอาคารกรมฝนหลวงฯ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ งบประมาณ 8,587,725.60 บาท และ 2. โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี งบประมาณ 457,940,000 บาท โดยขอทราบข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์และกฎหมายใด พร้อมขอเอกสารเกี่ยวข้องการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 แก้ไขเพิ่มเติม มติครม.วันที่ 28 มกราคม 2563
ข้อ 3. ในหนังสือดังกล่าวยังตั้งคำถามว่า ในช่วงปี 2565 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมฝนหลวงฯ หรือไม่ หากเป็น ดำรงตำแหน่งใด ระดับ สังกัด/งาน /กอง อย่างไร และมีอำนาจเกี่ยวข้องดำเนินการข้อ 1 และข้อ 2 หรือไม่อย่างไร 4.กรมฝนหลวงฯ เคยได้รับการร้องเรียนพฤติการณ์ดังกล่าวหรือไม่และหากมี การตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนวินัยตามระเบียบราชการหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร ซึ่งทั้ง 4 ข้อให้กรมฝนหลวงฯ แจ้งข้อเท็จจริงและส่งเอกสารให้ ป.ป.ท.ตามหนังสือระบุ

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือจาก กองกำกับการ 1 กองป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เรื่อง ขอข้อมูลและเอกสารประกอบการสอบสวน ถึงอธิบดีกรมฝนหลวง กรณีได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน กรณีอ้างว่า กรมฝนหลวงมีการจัดซื้อเครื่องบินเล็ก โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ที่ไม่โปร่งใส มีผู้เสนอเพียงรายเดียว และไม่มีการสืบประวัติผู้เสนอราคาซึ่งทราบว่า มีกรณีอุทรณ์กับกองทัพไทย “ทิ้งงาน” เป็นต้น

ขณะเดียวกัน กรณีจัดซื้อเครื่องบินเล็กของกรมฝนหลวงดังกล่าว ยังมีหนังสือจาก ป.ป.ช.ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ส่งถึงอธิบดีกรมฝนหลวง เรื่องขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐาน ระบุว่า ได้รับเรื่องกล่าวหา เจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกรมฝนหลวง ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีกรมฝนหลวงได้กำหนดเงื่อนไขรายละเอียดประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างเครื่องบินขนาดกลางด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์คุณลักษณะเฉพาะและเงื่อนไขทางเทคนิค อันเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้ชนะเสนอราคา ซึ่งเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย จึงให้กรมฝนหลวงฯแจ้งข้อเท็จจริงและส่งเอกสารไปยังสำนักไต่สวน ป.ป.ช.ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ

“เอกสารที่นำมาเปิดเผยในวันนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่มีข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบนายสุพิศ จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ตระหนักในข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้บ้างเพื่อจะได้หูตาสว่างและรีบตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่กรมฝนหลวงฯ จะเสียหายไปมากกว่านี้ แทนที่จะมุ่งแต่ผลักดันเสนอชื่อให้บุคคลนี้ขึ้นเป็นตำแหน่งใหญ่โต ซึ่งอาจจะมีพฤติการณ์หนักข้อขึ้นกว่าเดิม แต่หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ใส่ใจและเพิกเฉย ช่วงหลังปีใหม่พวกเราจะเปิดเผยถึงพฤติการณ์ของนายสุพิศ เมื่อครั้งทำหน้าที่เป็น ผอ.สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน เคยถูกร้องเรียนถึง สตง.ให้ตรวจสอบกรณีการกำหนดประกวดราคาซื้อเครื่องสูบน้ำเอื้อประโยชน์กลุ่มบริษัทเพียงไม่กี่บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีผลประโยชน์ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่สำนักเครื่องกล ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เงินราชการสูญเสียกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้มีแผนผังการรับประโยชน์ว่าส่งบุคคลใดบ้างกี่เปอร์เซ็นต์อย่างชัดเจน”












กำลังโหลดความคิดเห็น