“พรเพชร” รับปฏิรูปประเทศไม่เข้าเป้า เหตุหน่วยงานราชการไม่เอาด้วย ขณะกฎหมายที่ผ่านออกมาหลายฉบับยังไม่น่าพอใจ ยันลุยทำงานต่อระหว่างรอรัฐบาลใหม่ พร้อมทำงานกับสภาชุดใหม่ ให้คะแนนตัวเอง-ส.ว. 4 ปี ทำหน้าที่ได้ดี ชี้แก้ รธน.ไม่ผ่านเหตุ ส.ส.- ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ยัน ส.ว.กดรีโมตสั่งไม่ได้
วันนี้ (30 ธ.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการวางแนวทางการทำงานของ ส.ว.ในปี 2566 ว่า ก่อนจะครบวาระ 5 ปี ก็จะเหลือเวลาอยู่ปีเศษ ได้บอกกับสมาชิกว่าคงจะมีการเปลี่ยนคณะ ส.ส.ทั้ง 500 คนใหม่ และคงต้องทำงานร่วมกับ ส.ส.ทั้งหมด ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าพรรคการเมืองใดจะได้คะแนนเสียงมาก และประธานรัฐสภาจะมาจากพรรคการเมืองใดเราก็ยังไม่ทราบแน่นอนก็คิดลำบาก แต่ว่าเราก็พร้อมให้ความร่วมมือ ประสบการณ์ที่ผ่านมา 3-4 ปี คิดว่าจะทำงานโดยประสานงานกับสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ได้กฎหมายที่ดี ให้ได้ข้อยุติที่ดีจากญัตติต่างๆ ที่ทั้ง 2 สภาเสนอหรือประชุมร่วมกัน ถ้าเป็นกฎหมายส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามขั้นตอน คือ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน แล้วจึงมาถึงวุฒิสภา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ส.ว.มีส่วนในการแก้ไขและตกลงกันได้จนแทบทุกฉบับ เป็นระบบที่ตนคิดว่าประเทศไทยที่พัฒนาระบบกฎหมายมาจะได้กฎหมายที่ดีบังคับใช้กับประชาชนต่อไป แต่หากมีปัญหามากก็อาจจะไม่ผ่านและต้องยอมรับ
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา พอใจกับการทำงานหน้าที่ของสภาและตัวท่านเองหรือไม่ ประเมินอย่างไรบ้าง นายพรเพชร กล่าวว่า ประเมินว่าทำได้ดี อาจจะมีที่จะถูกวิจารณ์ว่าไม่ผ่านก็มีเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเรื่องที่ผ่านเพียงเรื่องระบบปาร์ตี้ลิสต์ การแก้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น นอกนั้นก็ไม่ผ่าน ก็เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนากันต่อไป ตนก็ยอมรับว่า ประชาชนหรือผู้ที่เห็นว่าไม่ผ่าน ต้นเหตุมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ ส.ว. 1 ใน 3 แต่จริงๆ แล้ว บางครั้งก็ไม่ใช่เกี่ยวกับเสียง ส.ว. 1 ใน 3 แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่ให้เลย ไม่ว่าจะเป็นของ ส.ว.หรือเป็นของ ส.ส.
ต่อข้อถามว่าที่กฎหมายไม่ผ่านเป็นเพราะ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรามีสิทธิที่จะโหวตเองจริงๆ หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ตนเป็นประธาน หลายคนเข้าใจว่าตนสามารถไปสั่งการอะไรได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่สมาชิกหรือท่านใดก็ตามเลือกตนมา ก็มองตนในแง่ที่มีประสบการณ์เรื่องนิติบัญญัติมาตั้งแต่สมัยตนยังเป็นหนุ่มๆ อยู่ซึ่งตนบรรจุที่สภา ตั้งแต่สมัย นายมารุต บุนนาค นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีใหม่ ตนมาสภาแล้ว เขาก็ไว้วางใจตนที่จะทำงานด้านนี้ ส่วนการเป็นวิปตนก็ไม่ทราบว่าวิปของ ส.ว. จะมีแค่ไหนเพียงไร ก็คงได้เป็นกลุ่มๆ ถ้าเห็นด้วยกันก็ไปทางเดียวกัน แต่ตนมั่นใจว่าไม่เป็นทางเดียวกันไปตลอด
ประธานวุฒิสภา ยังกล่าวถึงการปฏิรูประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีความคืบหน้า ว่า เราก็ต้องยอมรับว่า กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศก็มีบางส่วนที่ผ่านไปแล้ว เช่น เรื่องตำรวจ ซึ่งเท่าที่ตนฟังดูก็ยังไม่เป็นที่พอใจ แต่ก็ผ่านไปตอนนี้เรื่องของการศึกษาจะเข้าวันที่ 10-11 ม.ค. 66 นี้ รู้สึกว่าขนาดร่างมาก็ยังไม่ค่อยพอใจกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สั้นหน่อยก็ผ่านไป เช่น เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เราทราบดีว่าทางสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นใจกับประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทาง ส.ว.ก็ได้พิจารณาดูว่าบางเรื่องต้องเข้าใจเจ้าหน้าที่ที่เขาจะต้องมีอำนาจบางอย่าง แต่จะใช้อำนาจเกินเลยไม่ได้ นอกจากนั้นกฎหมายเรื่องการทำแท้งอะไรต่างๆ ก็ผ่านไปได้ด้วยดี และยังมีกฎหมายคุ้มครองการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งบางเรื่องก็พิจารณาร่วมกัน บางเรื่องก็พิจารณาตามขั้นตอน
เมื่อถามถึงการปฏิรูปประเทศจะไปอย่างไรต่อ และ ส.ว.จะพิจารณาบทบาทของตัวเองต่อไปอย่างไร นายพรเพชร กล่าวว่า พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา เคร่งครัดมาก การที่จะให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มี 2 ส่วน คือ ทางกฎหมายก็ทำ แต่ยังไม่เป็นที่พอใจอย่างที่ตนได้บอกแล้วและในส่วนที่เขาต้องดำเนินการโดยไม่ต้องใช้กฎหมายก็มีเยอะ ซึ่งเป็นส่วนที่ยาก หน่วยราชการต่างๆ อาจจะไม่คุ้นเคยกับสิ่งนี้ คิดว่า เป็นการชี้แจงธรรมดา ตามที่มีการชี้แจงกันในทุกปี แต่เรื่องนี้ทาง ส.ว.ให้ความสำคัญมาก
“เท่าที่ผมดู ส.ว.บางส่วนมาจากสภาปฏิรูปประเทศ เขาก็เข้มแข็งและพยายามที่จะดูแลสิ่งเหล่านี้ และคิดว่าจะต้องดำเนินการต่อไป ถึงแม้ว่าเป็นช่วงปิดสมัยประชุม หรือรอชุดใหม่มา ผมบอกสมาชิกแล้วว่าเราต้องทำงานต่อ แม้งานด้านนิติบัญญัติจะทำยังไม่ได้ หรือสภายังไม่มี เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ ที่สามารถจะให้มีการเปิดสภาได้ตามลำดับขั้นตอน แต่ก็ยาก ดังนั้น จึงต้องไปเน้นในเรื่องการปฏิบัติ เช่น ปฏิบัติต่อหน่วยราชการต่างๆ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ถ้าเกิดเขาออกหาเสียงกันเราก็คงต้องหยุดก่อน ถ้าเรียบร้อยแล้วเราค่อยออกไปหาประชาชนต่อ” นายพรเพชร กล่าว