ส.ส.ปชป. เสนอรัฐรื้อระบบประเมิน ITA ใหม่ แก้ปัญหาความล้มเหลวในหน่วยงาน พร้อมแก้กฎหมายเพิ่มโทษสูงสุดประหารชีวิต ผู้กระทำความผิดเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด หลัง “อธิบดีกรมอุทยานฯ” ถูกจับ
วันนี้ (29 ธ.ค.) นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เรื่อง กรณีการบุกจับ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช แต่ขอตั้งข้อสังเกต 5 ประเด็น เพื่อเสนอแนะรัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไข คือ 1. การประเมิน ITA ของหน่วยงานในปี 2565 ที่หน่วยงานนี้ได้คะแนนประเมินย้อนหลังไปจนถึงปี 2563 ที่ A นั้น แสดงถึงความล้มเหลวในระบบการประเมิน เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงระบบการประเมินใหม่
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า 2. หน่วยงานนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณปีละราว 10,000 ล้านบาท ถ้าระบบเป็นอย่างนี้ ทั้งองค์กรต้องมีคำถามว่างบประมาณเหล่านั้นได้ดูแลพื้นที่ 73 ล้านไร่ 1 ใน 4 ของที่ดินทั่วประเทศ จะมีความปลอดภัยปลอดจากการโกงกินแค่ไหน ดังนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ควรดูเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายเท่านั้น ต้องไปตรวจสอบการใช้งบประมาณและเส้นทางของเงินที่เดินออกไปด้วย 3. การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่ง แสดงออกถึงการที่ตำแหน่งราชการกลายเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายมา เป็นโควตาของผู้มีอำนาจ สิ่งนี้จะต้องหมดไป และต้องมีการจัดระบบการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการที่มีความถูกต้องเป็นธรรมและโปร่งใส 4. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 63 กำหนดเรื่องของการปราบปรามคอร์รัปชัน และปกป้องคนที่แจ้งเบาะแส แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่จะดูแล จึงขอให้รัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องนี้ และขอขอบคุณ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำสักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 9 อุบลราชธานี
นายพิสิฐ กล่าวว่า และ 5. กฎหมายการปราบปรามคอร์รัปชันจะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้นมากกว่านี้ จะต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง โดยยกตัวอย่างที่ประเทศจีนจะมีโทษสูงสุดประหารชีวิต และขอเสนอแนะให้มีการปรับให้มีการยึดทรัพย์ด้วย โดยเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้มีการกำหนดโทษผู้ที่เรียกรับทรัพย์ หรือรับผลประโยชน์จากเดิมจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท แก้ไขเป็น จำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 400,000 คน หรือโทษประหารชีวิต และแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 149 และ 150 เพิ่มเติม ให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สินของผู้นั้นไว้โดยให้ตกเป็นของแผ่นดินเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด นอกจากนี้ ขอแนะนำให้แก้กฎหมาย พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 34 โดยเพิ่มอำนาจในการกำหนดหรือให้รางวัล หรือสินบนนำจับ แก่ผู้แจ้งเบาะแสตามระเบียบ