xs
xsm
sm
md
lg

'จาตุรนต์'แนะ ปชช.ต้องไม่ให้โอกาสพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายแล้วไม่ทำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า ตลอดสัปดาห์มีการถกเถียงกันเรื่องนโยบายในการเลือกตั้งครั้งหน้ามากขึ้น ตัวผมเองได้ไปร่วมเวทีเสวนาของสยามรัฐเมื่อ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพูดในหัวข้อ “โอกาส ความหวัง การเมืองวิถีใหม่” โดยมีนโยบายเป็นกุญแจสำคัญครับ

พรรคเพื่อไทยมีแนวทางการทำนโยบายและการนำไปปฏิบัติจริงจากที่เคยทำกันมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ซึ่งเราถือว่านโยบายเป็นเรื่องสำคัญและทำอย่างจริงจัง เราพยายามศึกษาว่าปัญหาของคนทั้งประเทศอยู่ตรงไหน ประชาชนเดือดร้อนอย่างไร ทั้งปัญหาของประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนในแต่ละกลุ่มเฉพาะ ว่าพวกเขาต้องการแก้ปัญหาอะไร นี่คือการสร้างความหวังให้ประชาชนและประเทศนี้โดยนโยบาย

สิ่งสำคัญอย่างแรกนโยบายต้องทำให้ประเทศพ้นวิกฤต เราเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหนักหนามาก เศรษฐกิจเติบโตช้าจนเป็นอันดับรั้งท้ายในอาเซียนมาหลายปี และเมื่อทั่วโลกกำลังฟื้นตัว ไทยก็ฟื้นช้ากว่าคนอื่น อีกทั้งเรากำลังเผชิญกับการปรับตัวครั้งใหญ่การผลิตก็ต้องทันสมัย มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ส่งเสริมพัฒนาบุคลากรเพิ่มทักษะ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งหมดเพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันกับเขาได้ เราจะต้องฟื้นตัวให้เร็ว มีเค้กมาแบ่งกันมากขึ้น แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากของประเทศไทยให้ได้

นโยบายของพรรคเพื่อไทยจะมุ่งไปเพื่อแก้ปัญหาของทั้งประเทศเหล่านี้ และเมื่อเสนอในการเลือกตั้งแล้ว ถ้าได้รับการเลือกตั้งก็จะนำไปทำเป็นนโยบายรัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา แล้วก็ใช้บริหารประเทศจนเกิดขึ้นจริงเหมือนอย่างที่เคยทำมาแล้ว ซึ่งการทำนโยบายขณะนี้เราก็ตั้งใจอย่างนั้น ในโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งนโยบายที่ออกมาจะมีความชัดเจนและเป็นความหวังของประชาชน

แต่ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าการแข่งขันทางนโยบายจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่มันไม่มีหรือมีน้อยมากในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว อยากเห็นการนำเสนอนโยบายที่นำไปสู่การแก้ปัญหาประเทศกันจริงๆ มีการแข่งขันทางนโยบายกันอย่างเข้มข้นโดยประชาชนมีความหวังว่าถ้าเลือกพรรคนี้ด้วยนโยบายแบบนี้แล้วจะได้รัฐบาลเพื่อมาแก้ปัญหาและประชาชน ทั้งพรรคและประชาชนให้ความสนใจกับนโยบายเป็นอันดับแรก ๆ (นอกเหนือจากตัวผู้สมัครและแคนดิเดต) ไม่ใช่แข่งขันกันด้วยเรื่องอำนาจรัฐอำนาจเงิน หรือเน้นแต่เรื่องบุคคลอย่างเดียว

ที่ผมพูดแบบนี้เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นการถอยหลัง ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศสะดุดอย่างรุนแรง การแข่งขันทางนโยบายมีน้อยและประชาชนให้ความสนใจน้อย เพราะการเลือกตั้งใน 30-40 ปีเป็นอย่างน้อย ไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งไหนที่รัฐบาลที่ทำหน้าที่อยู่ไม่เป็นรัฐบาลรักษาการ แต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นรัฐบาล คสช. ที่ไม่ถูกห้ามเรื่องการใช้งบประมาณ จะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการก็ทำได้ สามารถใช้งบประมาณ 40,000 ล้านบาทในการหาเสียงตามใจชอบ แล้วประกาศโครงการให้สอดคล้องกับชื่อพรรคการเมือง โดยที่พรรคการเมืองอื่นไม่สามารถทำได้และถูกข้อห้ามในการเลือกตั้ง

ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า คุณมาเสนอนโยบายการอย่างนั้นอย่างนี้ไม่เห็นชัดเท่ากับรัฐบาลที่บอกว่าเดือนธันวาคมจะจ่ายเงินเพิ่มให้คนสูงอายุและคนจน พอเดือนมีนาคมที่มีการเลือกตั้งก็ประกาศว่าหลังเมษายนจะจ่ายเพิ่มอีก ความได้เปรียบมันจึงเกิดขึ้น

อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วต้องยอมรับว่าเรื่องใครสนับสนุนพลเอกประยุทธ์หรือไม่ ได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ รวมถึงความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งมันทำให้ความสนใจต่อนโยบายมันน้อยลง

ผมจึงอยากเห็นการแข่งขันทางนโยบายที่แข่งขันกันจริงๆ และที่สำคัญพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายแล้วไม่ทำ ประชาชนจะต้องไม่ให้โอกาสอีก