ศาล ปค.กลางยกฟ้อง ปมผู้ค้าของที่ระลึกข้างวิหารพระมงคลบพิตร อุยธยา ฟ้องถูกไล้รื้อแผงค้า ชี้ กรมศิลป์ ทำโดยชอบด้วยกฎหมาย เหตุบุกรุกโบราณสถาน
วันนี้ (26 ธ.ค.) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและผู้ค้าของชำร่วย ของที่ระลึก และอาหารบริเวณ ด้านข้างวิหารพระมงคลบพิตรวัดมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 41ราย ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพวก รวม 6 ราย กรณีขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่รื้อแผงค้าและชดใช้ค่าเสียหาย
โดยศาลเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 รวมถึงส่วนราชการต่างๆ ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ของวิหารพระมงคลบพิตร เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและสำเร็จลุล่วงโดยสมควรแก่พฤติการณ์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าพื้นที่บริเวณวิหารพระมงคลบพิตรและพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ซึ่งผู้ค้าก็รับว่าตนได้ประกอบการค้าอยู่บริเวณดังกล่าวมานานกว่า 60 ปี และไม่ใช่ผู้ประกอบการร้านค้าทรงไทยแต่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับการผ่อนผันชั่วคราว คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนานครประวัติศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องที่ 6 ซึ่งถือว่าได้รับมอบอำนาจจากคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบพื้นที่ร้านค้าบริเวณวิหารพระมงคลบพิตรและพื้นที่มรดกโลกอยุธยา ประกอบกลับเมื่อพิจารณาภาพถ่ายแผงค้าที่พิพาทปรากฏลักษณะเป็นร้านค้าหรือสิ่งที่สร้างขึ้นซึ่งบุคคลสามารถเข้าใช้สอยได้ อันเป็นอาคารตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ 2504 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารภายในเขตของโบราณสถานซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียนเว้น แต่ได้รับอนุญาตหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดี ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรให้ก่อสร้างแต่อย่างใดการที่กรมศิลปากรผู้ถูกฟ้องที่ 5 โดยอธิบดีกรมศิลปากร มีประกาศกรมศิลปากรลงวันที่ 27 มี.ค. 60 แจ้งผู้ประกอบการค้าที่ยังไม่ได้ขนย้ายสัมภาระออกจากเขตโบราณสถานและการที่คณะทำงานเฉพาะกิจได้แจ้งยุติการอำนวยความสะดวกเรื่องไฟฟ้าและประปาในบริเวณเต็นท์ร้านค้าหลังวิหารพระมงคลบพิตร การนำแท่งปูนแบริเออร์มาปิดกั้นจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่ปรากฏว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยาได้กระทำการใดเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใดจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้พ้องคดีที่จะต้องรับผิดชดใช้สินไหมทดแทน
ส่วนที่อ้างว่า มีกลุ่มร้านค้าศาลาทรงไทยค้าขายอยู่ที่บริเวณโบราณสถานเช่นกันแต่ผู้ถูกฟ้องคดี กลับใช้อำนาจไล่รื้อเฉพาะแผงค้าของผู้ค้าที่ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการเลือกปฏิบัติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มร้านค้าศาลาทรงไทย เห็นว่า การที่คณะทำงานเฉพาะกิจฯได้มีคำสั่งให้ผู้ค้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายสัมภาระออกจากพื้นที่เขตโบราณสถาน เนื่องจากได้มีการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่ไม่อาจอ้างว่าเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพื่อให้มีการเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเฉพาะกิจ หรือระงับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกได้