นายกฯ เผย เปิดสองท่าเรืออัจฉริยะของขวัญปีใหม่ ปชช. อำนวยความสะดวกเชื่อมขนส่ง “เรือ-ราง-ล้อ” ชูแลนด์มาร์กใหม่ แจงยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอยู่ทั่วประเทศ หล่อเลี้ยง ศก.สังคม ชูทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน
วันนี้ (23 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานแฟนเพจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความถึงภารกิจนายกรัฐมนตรี ดังนี้ พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่านครับ ผมมีความยินดีที่จะขอแจ้งให้ทราบว่า ระบบขนส่งทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาของเรา ได้รับการยกระดับและประสบความสำเร็จดียิ่ง เป็นไปตามแผนระยะยาวของเราตามลำดับ โดยวันนี้ ผมได้เป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการ “ท่าเรืออัจฉริยะ” หรือ Smart Pier อีก 2 แห่ง นั่นคือ “ท่าเรือราชินี” และ “ท่าเรือบางโพ” เพื่อเป็นอีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทยในปี 2566 นี้ครับ
โดยท่าเรืออัจฉริยะทั้งสองแห่งนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเชื่อมต่อกับระบบการขนส่ง “เรือ-ราง-ล้อ” ได้อย่างสมบูรณ์ไร้รอยต่อ โดย “ท่าเรือราชินี” นั้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีสนามไชย และได้รับการออกแบบให้เป็นท่าเรือที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ พร้อมทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในพื้นที่หลายแห่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ส่วน “ท่าเรือบางโพ” นั้นเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางโพ ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งชุมชนและร้านค้าเครื่องไม้เครื่องเรือนจำนวนมาก นอกจากนั้นท่าเรืออัจฉริยะทั้งสองแห่งนี้ ยังมีจุดเชื่อมต่อการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางอีกหลายสาย
จากวันแรกที่ผมได้สั่งการให้พลิกโฉมท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น “ท่าเรืออัจฉริยะ” และปรับเปลี่ยนเรือโดยสารให้มาใช้พลังงานไฟฟ้า โดยทำเป็น “แผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา” พ.ศ. 2562-2567 จนถึงวันนี้เรามีท่าเรืออัจฉริยะที่เปิดให้บริการแล้ว รวม 8 แห่ง จากทั้งหมดตามแผน 29 แห่ง มีเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการแล้ว 26 ลำ และจัดหาเพิ่มเติมอีก 18 ลำ ภายในปีหน้า 2566
ความพิเศษของท่าเรืออัจฉริยะนี้ เป็นไปตามแนวทางที่ผมได้สั่งการไว้ คือ “Smart Pier, Smart Connection” นั่นคือ
1. เชื่อมโยงการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทั้งล้อ-ราง-เรือ อย่างไร้รอยต่อ
2. รูปลักษณ์สวยงามเป็นเอกลักษณ์ สะท้อนความเป็นไทย กลมกลืนกับท้องถิ่นนั้นๆ
3. ออกแบบตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อทุกคนในสังคม รวมทั้งคนพิการ-ผู้สูงอายุ
4. มีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี และระบบการให้บริการที่ทันสมัย เช่น (1) นำระบบ AI เข้ามาใช้ เพื่อควบคุมระบบสถานี (2) ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อการรักษาความปลอดภัย (3) มีระบบบอกเวลาเรือเข้า-ออกท่าเรือ แบบ Real Time (4) รองรับระบบตั๋วร่วม และการจ่ายค่าโดยสารแบบเงินดิจิทัล เช่น จ่ายเงิน-เติมเงินด้วยโทรศัพท์มือถือได้ (5) มีระบบแนะนำเส้นทางการเชื่อมต่อรถโดยสาร รวมทั้งสถานที่สำคัญๆ และสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงด้วย เป็นต้น
5. นอกจากนี้ ยังต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตคนยุคใหม่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือนักเดินทางต่างๆ เช่น มีจุดบริการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ และบริการฟรี Wi-Fi ซึ่งรัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกมากมาย ที่รัฐบาลได้ริเริ่ม สานต่อ และผลักดัน จากที่เป็นเพียงแนวความคิด ออกมาเป็นแผนงานบนกระดาษ แล้วนำไปสู่การก่อสร้าง และเปิดให้บริการแก่พี่น้องประชาชนในที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น กระจายตัวในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาวต่อไป นับได้ว่าเป็น “ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย” ครั้งยิ่งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนครับ