เมืองไทย 360 องศา
จะเรียกว่าเคลื่อนไหวกันคึกคักก็อาจจะไม่เชิงนัก แต่หากบอกว่าเคลื่อนไหวกันมาต่อเนื่อง สำหรับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นาทีนี้ถือว่าใช่เลย ขณะเดียวกัน ก็ต้องบอกว่ามาควบคู่มากับลักษณะ “เลือดไหลออก” หนักๆ ไม่แพ้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยังเชื่อว่ายังมีไหลออกมาอีกในอนาคตอันใกล้นี้
แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละ ส่วนที่ไหลออกก็ไหลไป แต่ภายในพรรคก็ยังมีกิจกรรมมีความเคลื่อนไหวออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดตัวผู้สมัครที่มีเป็นชุดๆ มีออกมาให้เห็นแม้ว่าจะยังไม่ใช่ระดับ “บิ๊กเนม” มากมาย แต่บางคนก็ถือว่าเป็น “ตัวเด่น” ก็มีเหมือนกัน
ก่อนหน้านี้ ไม่กี่วันก่อนมีการเปิดตัว นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ผละจากพรรคสร้างอนาคตไทย พลิกมาเป็น “ขุนพลภาคใต้” ของพรรคพลังประชารัฐ เชิดชู “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคได้อย่างน่าแปลกใจ รวมไปถึง นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่มาร่วมกับพรรคนี้อีกคน ถือว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน
แม้ว่าแต่ละคนมีเหตุผลสารพัด ทั้งเรื่องอุดมการณ์ตรงกัน หรือพรรคเก่าเปลี่ยนไป ไม่เป็นไปตามสัญญาประชาคมอะไรก็แล้ว ว่ากันไป ถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่จะย้ายเข้ามาใหม่ และผละออกมาจากพรรคเดิม
ขณะเดียวกัน หากโฟกัสที่พรรคพลังประชารัฐ ที่เมื่อสำรวจจำนวน ส.ส.ที่ลาออกไปหลายชุด ก็ต้องยอมรับว่า มีจำนวนกว่าสิบคนแล้ว และยังเชื่อว่าจะต้องไหลออกไปอีก อย่างไรก็ดี การไหลออกดังกล่าวแม้ว่าจะไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ที่มองเห็นชัดเจนก็คือการย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด ทั้งในภาคกลางแบบยกจังหวัด เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี รวมไปถึงเพชรบุรี ที่มาเกือบหมด ภาคเหนือตอนล่าง เช่นที่พิษณุโลก รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร ก็ไปภูมิใจไทย สามสี่คน
ที่ต้องจับตามองต่อไป ก็คือ ในอนาคตอันใกล้จะมีการไหลออกไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ตาม “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอีกจำนวนกี่คน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็น “พื้นที่กระแส” จะออกไปอีกเท่าไหร่กันแน่
นั่นเป็นภาพการ “ไหลออก” จากพรรคพลังประชารัฐ แต่อย่างที่บอกก็คือมันก็มี “ไหลเข้า” เหมือนกัน และเป็นระดับที่ “หวังผลได้” ดังที่เห็นรายชื่อข้างต้นไปแล้ว ดังนั้น ตอนนี้สิ่งที่น่าพิจารณากัน ก็คือ ทำไมถึงมีไหลเข้า ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถ “ตรึง” ส.ส.ได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือว่า “มีไม่น้อย” และมีการเปิดตัวไปแล้วหลายคน และการเปิดตัวผู้สมัครแบบนั้น มันก็น่าจะชัวร์ในระดับเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ขึ้น แม้ว่าในอนาคตอาจจะยังเปลี่ยนแปลงได้ก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ถึงวันเปิดรับสมัครเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความชัดเจนยิ่งเร็วยิ่งดีกว่า เพราะหากทอดเวลานานออกไปมันก็จะมีปัญหาในเรื่อง “ทับซ้อน” กันในพรรค ถึงต้องรีบวางตัวกันให้ชัดเจนเสียก่อน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐก็เพิ่งเปิดตัวผู้สมัครไปอีกชุดใหญ่ ทั้งสี่ภาคจำนวน 55 คน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ขณะเดียวกัน ในวันรุ่งขึ้น ก็มีการจัดอบรมผู้สมัครของพรรค
โดย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ จะมีการประชุมใหญ่ของพรรค ในวันที่ 14 ม.ค. 66 โดยจะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ แต่หัวหน้าพรรคยังเป็น พล.อ.ประวิตร เช่นเดิม จะเปลี่ยนแปลงเฉพาะ กก.บห.เท่านั้น ซึ่งจะให้ผู้ที่เป็น ส.ส.เขต พ้นจาก กก.บห.เนื่องจากมีภารกิจมาก และมีข้อจำกัด และกฎระเบียบในการลงพื้นที่เยอะ นอกจากนี้พรรคจะมีการจัดงานระดมทุน เบื้องต้นจะมีขึ้นในวันที่ 25 ม.ค. 66 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ขณะนี้การวางตัวผู้สมัคร ส.ส.ของ พปชร. มีความคืบหน้าประมาณ ร้อยละ 80 ส่วนในพื้นที่ กทม.กำลังดูรายละเอียด แต่มีผู้ใหญ่ที่เป็นมืออาชีพมาช่วยดูกันเยอะ เบื้องต้น พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ดูแลใน กทม.เอง และมีผู้ช่วยมาช่วยดู ส่วนการจัดแม่ทัพรับผิดชอบในแต่ละภาคนั้น ตอนนี้มีผู้รับผิดชอบชัดเจนแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครคนใดที่อยากจะขึ้นกับส่วนกลาง หรือขึ้นตรงกับหัวหน้าพรรค ถือเป็นอีกกรณีหนึ่ง ขอให้เป็นบางกรณีไป
ส่วนจะเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ครบทั้ง 400 เขตเมื่อไหร่นั้น คิดว่า ก่อนวันระดมทุนพรรค น่าจะชัดเจนหมดแล้ว เพราะเราทำมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่มีข่าวออกมาว่า พปชร.เลือดไหลนั้น เช็กดูแล้วไม่เยอะหรอก เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมือง และจะมีเลือดใหม่ไหลเข้ามา บางคนไม่คิดว่าจะมา แต่มา อย่างเช่น นายอันวาร์ สาและ อดีต ส.ส.ปัตตานี ส่วนที่มีข่าวว่า นางนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ จะย้ายตามนายอันวาร์ มาอยู่กับ พปชร.นั้น เป็นในส่วนของ กทม. คาดว่าคงจะมีการนัดในส่วนของกทม.มาเปิดตัวกันอีกที
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตั้งเป้า ส.ส.ในพื้นที่ กทม.เอาไว้เท่าไหร่ นายวิรัช กล่าวว่า เราอย่าไปวางเป้าเลยว่าต้องได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เราต้องเคารพชาว กทม. เป็นจังหวัดที่วัดกระแสก่อนวันเลือกตั้ง จากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งไม่มีใครกำหนดได้ว่าคนไหนตัวเต็ง หรือไม่เต็ง ส่วนเป้าหมายทั่วไปประเทศของ พปชร.นั้น คิดว่าเร็วเกินไปที่จะพูด แต่ที่แน่ๆ ครั้งที่แล้วมีการประเมิน พปชร.ว่าจะได้ 20 ที่นั่ง ตอนนั้นตนฟังแล้วเจ็บในใจ ทำไมประเมินให้เราได้แค่ 20 ที่นั่ง แต่พอผลออกมาได้เกือบ 120 ที่นั่ง เมื่อถามย้ำว่า ครั้งนี้จะได้มากกว่า 120 ที่นั่งหรือไม่ นายวิรัช กล่าวว่า เราอยากได้มาก เราหวังได้ แต่อยากจะทำให้ดีที่สุด
พิจารณาจากความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐมาจนถึงตอนนี้ แม้ว่าจะถูกมองว่ามี “ไหลออก” จำนวนมาก และต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมี “ตัวหลัก” หลายคนที่ยังอยู่ แม้ว่าจนถึงปัจจุบันทุกอย่างยังไม่นิ่ง เพราะยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกชั่วโมง ที่ผ่านมาถือว่า “ลุงป้อม” คุมสถานการณ์ได้ดี
ขณะเดียวกัน ที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือทำไมถึงได้ตรึง ส.ส.ตัวหลักหลายคนเอาไว้ได้ และสำหรับคอการเมืองก็มองออกว่า คนพวกนั้นล้วนเป็นระดับ “เขี้ยว” ทั้งนั้น รวมไปถึงการดึงบางคนเข้ามาร่วมพรรคพลังประชารัฐ มันก็ย่อมมีเรื่องน่าสนใจ และคนพวกนี้ย่อมมองออกทะลุไปถึงอนาคต เพราะต้องไม่ลืมว่า คุณสมบัติสำคัญสำหรับนักการเมืองไทย ก็คือ “ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน” ถือว่าสำคัญที่สุด
ดังนั้น เมื่อประเมินกันว่า “กระแส” ของพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงตัวหัวหน้าพรรค คือ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจจะไม่ปังในวงกว้าง หรือชูเป็นจุดขายทางการเมือง แต่ระดับการบริหารแบบ “ขาใหญ่” ใจถึง พึ่งได้ ทุกฝ่ายสยบยอมกับ “พี่ใหญ่” ทำให้หลายคนมั่นใจหรือเปล่า และที่สำคัญ พลังดูดตรึงเอาไว้มันก็ต้องมั่นใจได้ นั่นคือ “กระสุน” ต้องเต็มแม็ก “กลุ่มทุน” ยังไม่หนี ดูแลอย่างดี และแม้ว่าบางพื้นที่ที่ต้องอาศัยกระแสเป็นหลักก็อาจต้องปล่อยไป แต่สำหรับ ส.ส.เขตสังเกตให้ดีจะเห็นว่า “ตัวหลัก” และเป็น “ระดับเขี้ยว” หลายคนยังอยู่ ซึ่งก็ต้องมองออกว่า ต้องมีความมั่นใจเต็มร้อย ว่ามีโอกาสเป็นรัฐบาลสูง นี่แหละคือคำตอบหรือเปล่า !!