โฆษก กมธ.พิจารณาร่างกัญชา ประกาศชัยชนะกัญชาขั้นแรกของ ปชช.! แต่ยังวางใจไม่ได้ หลังทิศทางดียังไม่มีการคว่ำร่าง เสียงข้างมากเห็นด้วย กมธ. จับตา ม.18 ให้ปลูกที่บ้านได้ไม่เกิน 15 ต้น และจบทันก่อนยุบสภาหรือไม่ เหตุบางพรรคใช้วิธีสกปรกทำสภาล่ม
วันนี้ (22 ธ.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ.สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “ปานเทพ” ประกาศชัยชนะกัญชาขั้นแรกของประชาชน! แต่ยังวางใจไม่ได้ โดยมีเนื้อหาดังนี้
การดำเนินการไปของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ในวาระที่ ๒ ได้ดำเนินไปทั้งสิ้น ๒ ครั้งเดินทางมาถึงการลงมติอนุมาตราสุดท้ายของมาตรา ๗ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ถึงจุดนี้แม้จะมีการอภิปรายกันค่อนข้างมาก แต่ก็มีทิศทางที่ดีและเป็นความก้าวหน้าในการเรียกร้องของภาคประชาชนอยู่ ๒ ประการ
ประการแรก สภาผู้แทนราษฎรยังไม่คว่ำร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. แต่ยอมพิจารณารายมาตราแทน
โดยภายหลังจากการที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากให้ถอนร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕[1] คณะกรรมาธิการฯก็ไม่ได้มีการแก้ไขมาตราใดๆ ทั้งสิ้น เพราะแทบทุกมาตราที่เป็นประเด็นข้อสงสัย บ้างก็เป็นความเข้าใจผิดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บ้างก็มีบัญญัติอยู่ในมาตราต่างๆ อยู่แล้ว
แม้จะบางมาตราที่สภาผู้แทนราษฎรบางพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการ ก็มีผู้สงวนคำแปรญัตติเอาไว้เพื่ออภิปรายลงมติในสภาผู้แทนราษฎรได้อยู่แล้ว จึงไม่เป็นอุปสรรคของสภาผู้แทนราษฎรในการลงมติเห็นชอบให้แก้ไขมาตราต่างๆของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือเห็นด้วยกับการแก้ไขรายมาตราของคณะกรรมธิการเสียงข้างน้อยก็ได้ [2]
แต่ในที่สุด “คำขู่” จากพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนหน้านี้ว่าจะคว่ำร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ….ก็ไม่สำเร็จ เพราะพอถึงเวลาจริงเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ และวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองใดเลยเสนอให้คว่ำพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่ประการใด
ชัยชนะที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเสียงเรียกร้องของภาคประชาชนต้องการไม่ให้เล่นการเมืองจนไม่มีกฎหมายกัญชา กัญชง และได้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องที่ต้องการให้มีการพิจารณาเห็นชอบหรือแก้ไขรายมาตราเพื่อให้มีกฎหมายสำหรับการใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชาอย่างเหมาะสมต่อไป [3]-[5]
ประการที่สอง การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ ๒ ในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงทั้ง ๒ ครั้ง คือ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ และวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ แม้จะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่คำปรารภ แต่เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติตามร่างและการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ ทุกมาตราจนถึงอนุมาตราสุดท้ายของมาตรา ๗ แล้ว
และสะท้อนให้เห็นว่าคำอภิปรายชี้แจงของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากยังคงได้รับการตอบสนอง ตอบรับโดยการลงมติเห็นด้วยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากอยู่
ปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าเสียงเรียกร้องของภาคประชาชนได้รับการตอบสนองแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นในอีกด้านหนึ่งด้วยว่าการพูดคุยเจรจาฝ่ายการเมืองต่างๆของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนแนวทางของภาคประชาชนนี้ คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล และอีกจำนวนหนึ่งจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา ยังคงรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ได้ในขณะนี้
ประเด็นที่จะต้องจับตาดูในเรื่องสำคัญที่สุดก็คือมาตรา ๑๘ ที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าประชาชนควรที่จะปลูกกัญชา กัญชงเพื่อการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ไม่เกิน ๑๕ ต้นนั้น จะได้รับการตอบสนองจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่อย่างไร
และก่อนจะไปถึงมาตรา ๑๘ ก็ต้องดูว่าการอภิปรายที่ยืดเยื้อที่ทำให้การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้านั้น จะทันมีกฎหมายก่อนการยุบสภาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในไตรมาสแรกของ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ หรือไม่?
โดยเฉพาะบางพรรคการเมืองที่อาจจะใช้วิธีสกปรกทำให้องค์ประชุมไม่ครบโดยการไม่เข้าประชุม หรือเข้าประชุมแต่ไม่ยอมกดบัตรรายงานตัว เพียงเพราะขัดขวางไม่ให้กฎหมายฉบับนี้เดินหน้าต่อไปได้
แต่ใครทำเช่นนั้นก็คงจะเห็นการเปิดโปงของประชาชนให้ทราบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดมีพฤติกรรมที่หวังจะไม่ให้การพิจารณากฎหมายในการใช้ประโยชน์หรือการควบคุมกัญชาเดินหน้าต่อไปหรือไม่ และมีใครบ้าง?
สำหรับการปลูกกัญชา กัญชง ใช้ในครัวเรือนเพื่อการพึ่งพาตัวเองของชาวบ้านนั้น ภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ยังคงเห็นความจำเป็นที่ประชาชนควรจะปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ เพราะถือเป็นความมั่นคงทางยาในครัวเรือน [5]
สำหรับการปลูกกัญชา ๑๕ ต้นนั้น นอกจากจะสำรวจสภาพความเป็นจริง (พิจารณาการสอบถามข้อมูลในคณะกรรมาธิการ)และโพลในประเทศไทยแล้ว ยังสามารถพิจารณาอ้างอิงการบริโภคกัญชาสด รักษาป้องกันโรคตามสูตรของ นายแพทย์วิลเลียม คอร์ทนีย์ ผู้เชี่ยวชาญการใช้ประโยชน์จากกัญชาจากมูลนิธิกัญชาระหว่างประเทศได้ด้วยว่า
“รับประทานดอกสด ๑๕ กรัม หรือใบสด ๓๐ กรัมต่อวัน [6] โดยเท่ากับใบ ๑๐,๙๕๐ กรัมต่อปี (๓๐ กรัม x ๓๖๕ วัน) เท่ากับ ๑๐.๙๕ กิโลกรัมต่อปี หรือประมาณ ๑๑ กิโลกรัมต่อปี โดยต้นกัญชา ๑ ต้น อายุ ๓-๔ เดือน ให้น้ำหนักประมาณ ๑ กิโลกรัม (รวมราก ต้น กิ่ง ใบ) โดยเฉพาะใบมีน้ำหนักประมาณร้อยละ ๗๐ ดังนั้นถ้าต้องการใบ ๑๐.๙๕ กิโลกรัม จึงควรปลูกประมาณ ๑๕.๖๔ ต้น ต่อคนเป็นอย่างน้อย (ไม่ใช่ครัว เรือนละ ๑๕ ต้น) ยังไม่นับการเผื่อการปลูกแล้วตาย”
อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีองค์ความรู้ วุฒิภาวะเพียงพอ ที่จะอยู่ร่วมกับกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แบบใต้ดินได้กลับมาถูกรับรองและปลูกเพื่อพึ่งพาตัวเองได้ย่อมจะดีกว่าต้องอยู่ภายใต้การซื้อกัญชาได้ในราคาแพงจากเฉพาะพ่อค้ากัญชาใต้ดินที่มีเส้นสาย หรือต้องซื้อกัญชาไม่มีคุณภาพที่ดีพอ หรือถูกจับกุมดำเนินคดีเข้าคุก/รีดไถ หรือไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ ฯลฯ
การศึกษาชิ้นนี้ คือ ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ โดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ซึ่งเป็นผลงานของนักวิชาการเมื่อปี ๒๕๖๔ โดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อังษณางค์กรชัยและคณะ ซึ่งได้แสดงให้เห็นได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์นั้นคือใช้แบบนอกระบบและผิดกฎหมาย แต่ก็ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพที่ดีขึ้นจนลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันจำนวนมาก และมีประสบการณ์พอจนมีผลข้างเคียงน้อย สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว
โดยในผลการศึกษาพบว่าประชาชนกลุ่มสำรวจที่ได้รับกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถรับกัญชาจากแพทย์แผนปัจจุบันในกระทรวงสาธารณสุขเพียงร้อยละ ๐.๙ เท่านั้น
ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับกัญชาจากแพทย์แผนไทยในกระทรวงสาธารณสุขเพียงร้อยละ ๔.๗ ส่วนที่ได้รับกัญชาจากแพทย์พื้นบ้านทั้งที่มีทะเบียนและไม่มีทะเบียนนอกระบบกระทรวงสาธารณสุขร้อยละ ๓๒.๓ [7]
ย่ิงไปกว่านั้น ตัวเลขที่ได้รับกัญชาในระบบอย่างถูกต้องตามโรคที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีเพียงร้อยละ ๑๖ เท่านั้น ซึ่งแปลว่ามีประชาชนใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์นอกระบบมากถึงร้อยละ ๘๔ เช่น ได้จากญาติ ตลาดมืด และที่ไม่สามารถระบุที่มาของกัญชาได้ [7]
ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์จะใช้อย่างผิดกฎหมาย แต่ผลสำรวจก็ได้พบว่าหลังใช้กัญชาประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงโรคในทางที่ดีขึ้นถึงดีขึ้นมากจำนวนมากถึงร้อยละ ๙๓.๔ [7] และส่วนใหญ่ใช้ปริมาณเท่าเดิมจากที่เคยใช้ครั้งแรกโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ และส่วนใหญ่ของผู้ที่ใช้กัญชามากถึง ๘๖.๔ ไม่เคยได้รับผลกระทบใดๆจากกัญชา [7]
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณที่สุดสำหรับภาคประชาสังคมและนักวิชาการ สื่อมวลชนทุกท่านที่ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวและสนับสนุนในทุกรูปแบบมาโดยตลอด และขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่ได้กลับมาพิจารณากฎหมายฉบับนี้ตามระบบและครรลองที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากที่เห็นประโยชน์และยืนยันเห็นชอบตามร่างแก้ไขกฎหมายกัญชา กัญชงของคณะกรรมาธิการ