นายกฯ มอบนโยบายหน่วยงาน กอ.รมน. และส่วนราชการด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องไปสู่การปฏิบัติ หวังผลสัมฤทธิ์ที่สูงยิ่งขึ้นในงานรักษาความมั่นคง และงานพัฒนา โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทำให้ประเทศไทยปลอดภัย
วันนี้ (22 ธ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ครั้งที่ 1/2565 และเป็นประธานสรุปผลการปฏิบัติงานและแถลงแผนการปฏิบัติงานประจำปีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อให้ผู้บริหาร กอ.รมน. (ส่วนกลาง) กอ.รมน.ภาค กอ.รมน.จังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง รับทราบผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แผนการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และนำนโยบายนายกรัฐมนตรียึดเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านความมั่นคง คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐวุฒิสภา หัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคง ผอ.รมน.ภาค ผอ.รมน.จังหวัด และผู้บริหารของ กอ.รมน. เข้าร่วมงาน
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินการของ กอ.รมน. ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่และโดยรวมของประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (ภาคเหนือโมเดล) ตามการขับเคลื่อน BCG Model ของรัฐบาล แอปพลิเคชันแผนที่สถานการณ์ร่วม (Common Operation Map: COM) การสร้างเครือข่ายเยาวชน ตามศาสตร์พระราชาในศูนย์การเรียนรู้ สู่การสร้างอาชีพ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลดงขี้เหล็ก ตำบลต้นแบบ ของจังหวัดปราจีนบุรี ภายใต้วิสัยทัศน์ตำบลดงขี้เหล็ก “ดงขี้เหล็กน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม เลิศล้ำการเกษตร เป็นเขตท่องเที่ยว” โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการดำเนินงานของ กอ.รมน. ที่บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนจนเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย พร้อมแนะนำให้มีการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างกัน เพื่อสามารถนำปรับใช้ได้ให้สอดคล้องกับบริบทและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในระดับพื้นที่และโดยรวมอย่างแท้จริง
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายหน่วยงาน กอ.รมน. และหัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ.รมน.ว่า มีความคาดหวังผลสัมฤทธิ์ที่สูงยิ่งขึ้นไป ทั้งในงานรักษาความมั่นคง เพื่อสนับสนุนแผนงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และงานพัฒนา ที่สอดรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยที่จะต้อง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีมอบแนวทางการทำงานร่วมกัน ในปีงบประมาณ 2566 ด้วยหลักการ “5ป” ได้แก่ “ป1” คือ ขอให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่น เรื่อง “ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ การทำงานใกล้ชิดกับประชาชน และรับฟังเสียงของประชาชน แล้วแปลงไปสู่แผนการปฏิบัติ ทั้งใน มิติการพัฒนา มิติความมั่นคง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้ง กอ.รมน. ต้องสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อสาธารณชน โดยการทำงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ ตลอดจนใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายต่างๆ โดยเคร่งครัด มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ประหยัด คุ้มค่า ตรวจสอบได้ด้วยการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ “ITA” (ไอ-ที-เอ)
“ป2” คือ ต้องปฏิรูปการทำงาน ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การแก้ปัญหา และการให้บริการประชาชน ทั้งยกระดับการทำงานภายใน กอ.รมน. เอง และการสนับสนุนงานของรัฐบาลในภาพรวมด้วย เช่น การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนนั้น รัฐบาลได้พัฒนา “ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า” หรือ TPMAP (ที-พี-แม็ป) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการ เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมๆ กันทั้ง 5 ด้าน คือ รายได้ การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ตลอดจนนโยบายอื่นๆ เช่น การแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน โครงการเพชรในตมที่เน้นพัฒนาคน-เด็กด้อยโอกาสด้วยการศึกษา เป็นต้น โดยขอให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยยึดหลัก“อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง ยั่งยืน” เพื่อการเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดีกว่า
“ป3” คือ การทำงานอย่างประสานสอดคล้อง และเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน อย่างไร้รอยต่อ มุ่งขยายเครือข่ายประชาชน และกระชับกลไก “ประชารัฐ” ทั่วประเทศ ตลอดจนเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ในฐานะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” โดยเฉพาะ “เครือข่ายข่าวภาคประชาชน” จะมีส่วนสำคัญในการ “ต่อหู เพิ่มตา” ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน ตลอดจนเติมเต็มฐานข้อมูลด้านการข่าวให้เป็นปัจจุบัน พัฒนาระบบสารสนเทศด้านการข่าวให้ทันสมัย และบูรณาการหน่วยในประชาคมข่าว รวมถึงปัญหาที่ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือจากชาติพันธมิตรด้วย เช่น การฉ้อโกงข้ามชาติ ยาเสพติดข้ามชาติ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ และบุคคลสองสัญชาติ เป็นต้น
“ป4” คือ ขอให้ประยุกต์หลักการทรงงาน ศาสตร์พระราชา และหลักวิชาการต่างๆ มาใช้ในการทำงานได้เหมาะสมกับแต่ละภารกิจและสถานการณ์ เช่น เผยแพร่องค์ความรู้ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนเข้าใจอย่างแท้จริง รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร ในการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่-น้ำ-ดิน การสำรวจและจัดทำข้อมูลแหล่งน้ำ ทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อยืนยันว่าแต่ละพื้นที่ควรจะปลูกพืชชนิดใด เป็นต้น โดยปัจจุบัน รัฐบาลได้ริเริ่ม “โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model” ที่มุ่งปฏิรูปกระบวนการปลูกข้าวของไทย ให้มีต้นทุนลดลง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้อยากให้ช่วยกันปลูกป่าในใจคน ผ่านโครงการ “ป่าชุมชน” ช่วยให้คนรักป่า-อยู่กับป่า เป็น Food Bank เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มคาร์บอนเครดิต ลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ลดมลภาวะเป็นพิษจากฝุ่นและหมอกควัน ตลอดจนรณรงค์ปลูกไม้ยืนต้น โดยเฉพาะไม้มีค่า ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย
“ป5” คือ ให้ความสำคัญกับงานประชาสัมพันธ์ โดยมุ่งสร้างการตระหนักรู้ ทำความเข้าใจ และแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้ช่องทางสื่อสารดั้งเดิม วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว ควบคู่เพิ่มช่องทางออนไลน์ สื่อโซเชียล บนแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มากขึ้นด้วย เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีการปลูกฝังและถ่ายทอดแนวความคิดที่ไม่ดี และไม่เหมาะสมให้กับเยาวชนไทย ทั้งด้านการเมือง สถาบันหลักของชาติ ตลอดจนการเผยแพร่ Fake News ในสื่อโซเชียล ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สร้างความแตกแยก รวมถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีลักษณะคล้ายกัน โดยฝ่ายตรงข้ามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยเพิ่มการปลุกระดมเยาวชน แทนการใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องเร่งการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกแพลตฟอร์ม ใช้น้ำดี ไล่น้ำเสีย และสร้างภูมิคุ้มกันในสังคมให้เข้มแข็ง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงกุญแจสู่ความสำเร็จ สำหรับ กอ.รมน. ว่า นอกจากการยึดหลัก “5ป” ข้างต้น เป็นแนวทางในการทำงานแล้ว การพัฒนาศักยภาพ บุคลากรของ กอ.รมน. ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพ และคุณภาพการปฏิบัติงานในทุกระดับ อีกทั้งมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน สามารถขับเคลื่อนและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานอื่น ภาคส่วนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดีด้วย พร้อมขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันทำงานทุกภารกิจ รวมทั้งด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยได้รับการยกระดับที่ดีขึ้นและพยายามยกระดับให้เป็นระดับที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับผลการดำเนินการของ กอ.รมน. ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 1 นั้น กอ.รมน. ได้มีการขับเคลื่อนการรักษาความสงบภายในประเทศ ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ในประเด็นต่างๆ เช่น (1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ โดยขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ/ศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ (2) การบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติด กอ.รมน. ได้บูรณาการจัดตั้งศูนย์อำนวยการฯ ร่วมกับ ป.ป.ส. ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีการเข้าไปพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อป้องกันภัยจากยาเสพติดในหมู่บ้านแกนหลักทั้งสิ้น จำนวน 1,240 หมู่บ้าน (3) การบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง กอ.รมน. ได้บูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องขยายผลจับกุมขบวนการผู้นำพา จำนวน 2,626 คน และผู้ลักลอบเข้าเมืองได้มากกว่า 120,000 คน พร้อมกับสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน (4) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ได้จัดตั้งเครือข่ายประชาชนใน 17 จังหวัด เพื่อแจ้งเตือน/เฝ้าระวัง และเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ รวมถึงในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ที่ผ่านมา (5) การแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยในปีนี้ ผลจากการจับกุมของทุกส่วนราชการมีมูลค่าถึง 173 ล้านบาท ส่งผลให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาประกาศยังคงให้ไทยมีสถานะจับตามอง (6) การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เน้นมิติด้านความมั่นคงและการพัฒนา การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7) การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15) และการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.29) ฯลฯ