xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์ เจียม” แซะ “เพื่อไทย” ทีแก้ รธน.เรื่องรัฐประหารทำได้ แต่ ม.112 ต้องรอ “ชาญวิทย์” ข้องใจป้ายลานโพธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพื่อไทย ชูนโยบายแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ก่อรัฐประหาร เป็นกบฏ ไม่มีอายุความ นิรโทษกรรมไม่ได้ - ภาพจากเฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย
“สมศักดิ์ เจียม” แซะ “เพื่อไทย” ทีชู แก้ รธน.ปิดประตู “รัฐประหาร” ทำได้ แต่ ม.112 ต้องรอ “เศรษฐกิจปากท้อง” “ชาญวิทย์” ข้องใจ “ป้ายลานโพธิ์” ทำเข้าใจผิด “วันชัย” ยก “ศึกชิงอำนาจ” สองขั้ว เดือดหลังเลือกตั้ง


น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (10 ธ.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ภาพและข่าวแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย พร้อมระบุว่า

“นี่ก็เป็นนโยบายการเมืองนี่นะ ทำไมชูได้ ไม่เห็นต้องรอเลย
(“เราเน้นนโยบายเศรษฐกิจปากท้องก่อน” ฯลฯ)”

ทั้งนี้ เพื่อไทย ชูนโยบายแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ก่อรัฐประหาร เป็นกบฏ ไม่มีอายุความ นิรโทษกรรมไม่ได้ ห้ามยอมรับคณะรัฐประหาร เป็นรัฏฐาธิปัตย์ และให้ยึดเป็นหลักการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2565 โดย คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์. ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย มีเนื้อหาดังนี้

ต้องยอมรับว่า ในประเทศเสรีประชาธิปไตยนั้น รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีความสำคัญทั้งในเชิงการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม หากบ้านเมืองมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ก็จะส่งเสริมให้ระบบการเมืองมีความเข้มแข็ง ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญเติบโตและพัฒนาก้าวหน้าไปได้ ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศก็ย่อมได้รับประโยชน์โดยทั่วถึง แต่หากได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขาดการยอมรับของประชาชน นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ และผู้รับผลกระทบโดยตรง ก็คือประชาชนโดยรวม

ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีจึงต้องมีความเป็นประชาธิปไตยสูง หลักนิติรัฐนิติธรรมต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด บทบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนต้องได้รับการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม การจัดสรรอำนาจให้แก่องค์กรต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่มีองค์กรใดอยู่เหนือองค์กรอื่นจนขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจ สถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันต้องการและมีความจำเป็นที่ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญของประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีผลพวงมาจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งอันสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของประเทศ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีผลพวงมาจากการรัฐประหารของ  คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช. และความมีอคติทางการเมืองของผู้ร่างและคนที่อยู่เบื้องหลัง เนื้อหาก็ขาดความเป็นประชาธิปไตย ที่มาก็ขาดความชอบธรรม แต่ด้วยเกราะป้องกัน หรือกำแพงที่ถูกสร้างขึ้นโดยกลไกในรัฐธรรมนูญของผู้ร่าง แม้สมาชิกรัฐสภาและประชาชนจะพยายามร่วมกันในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จเพิ่งสำเร็จครั้งแรกเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้งเท่านั้น แต่กลไกอื่นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคและปัญหาสำคัญยังคงไม่สามารถแก้ไขได้

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น มีนโยบายชัดเจนในเรื่องการจัดทำหรือการให้ได้มา ซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนเพื่อให้เป็น “รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” โดยพรรคได้เสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยังคงรูปแบบของรัฐและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติและให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมายกร่าง

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตัดวงจรอุบาทว์ คือ การรัฐประหาร พรรคมีข้อเสนอให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าการรัฐประหารถือเป็นกบฏ คดีไม่มีอายุความ และจะนิรโทษกรรมไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ห้ามมิให้องค์กรและหน่วยงานของรัฐยอมรับคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยให้ถือว่าหลักการดังกล่าวเป็นประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีในประวัติศาสตร์ไทย ว่า ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้กับประชาชนชาวไทย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของประเทศไทย เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม วันนี้จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเพราะรัฐธรรมนูญมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพี่น้องคนไทยทุกคน ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเท่านั้น การมีรัฐธรรมนูญที่ดี ประเทศชาติ สังคม จึงจะเจริญก้าวหน้าได้ พรรคเพื่อไทยจึงออกแถลงการณ์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2565 โดยมีสาระสำคัญ คือ การเชิญชวนพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล และแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาจาก ส.ส.ได้

ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันตนมีอายุเข้าสู่ปีที่ 75 ผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมานับครั้งไม่ถ้วน ทุกครั้งที่เกิดการปฏิวัติ ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสมากมาย สูญเสียระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราไม่สามารถต่อต้านอะไรจากผู้มีอำนาจได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการของฝ่ายตุลาการ เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหาร คณะรัฐประหารได้มาซึ่งอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ทำอะไรได้ตามใจชอบ มีอาวุธ มีปืน จึงได้เห็นว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหารทุกคณะ อยู่มากี่ปีประเทศชาติดีขึ้นหรือเลวลง บางกลุ่มพอใจกับการที่คนกลุ่มหนึ่ง อยู่ดีๆ ขอมาปกครองบ้านเมือง ตนเองดีที่สุด เก่งที่สุด คณะรัฐประหารที่ลุกขึ้นมายึดอำนาจ ตนไม่ให้ผ่านแม้แต่คณะเดียว ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดของประเทศชาติ คือ ผู้แทนราษฎรต้องมาจากประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้ที่ประชาชนให้การยอมรับ ไม่ใช่เอาใครก็ได้ ที่พอมีอาวุธ มาบอกว่าจะมาปกครองประเทศชาติ โดยไม่ได้ดูว่าตนเองนั้นมีความสามารถหรือไม่

ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม กล่าวอีกว่า การออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ เพื่อย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่า รัฐธรรมนูญที่ดี เป็นประชาธิปไตย ต้องมาจากพี่น้องประชาชนเท่านั้น จึงขอเรียกร้องให้

1. ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมีที่มาจากประชาชน
2. รัฐธรรมนูญต้องมีหลักสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ชี้เอาใครก็ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี และการรัฐประหารที่เกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก พรรคเพื่อไทยจึงเสนอส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดวงจรอุบาทว์ในการรัฐประหาร คือ ผู้ก่อการปฏิวัติรัฐประหาร คือ กบฏ คนเป็นกบฏต้องรับโทษตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และที่สำคัญเร่งด่วนที่สุด คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้การเลือกนายกรัฐมนตรีทำในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยไม่ให้วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากพี่น้องประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในอีก 3-5 เดือนข้างหน้า รัฐธรรมนูญจึงมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต วันรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ คือ การมีกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่การเกิดรัฐประหารหลายครั้งในรอบ 90 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ ให้รำลึกเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น การมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาตลอด โดยเฉพาะการรัฐประหารในปี 2549 และ ปี 2557 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ทำให้อำนาจไม่เป็นของพี่น้องประชาชน แต่อยู่ในมือของผู้ทำการรัฐประหาร และองค์กรต่างๆ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน คนไทยจึงได้รัฐบาลที่ไม่ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน บริหารประเทศไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการตรวจสอบจากประชาชน ประเทศไม่สามารถปรับตัวกับการผันผวนของโลกเศรษฐกิจโลกได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ฟื้นตัวจากวิกฤตช้า ขีดความสามารถของประเทศตกต่ำ ประชาชนต้องเผชิญกับภาวะรายได้ต่ำ ค่าครองชีพสูง หนี้สินครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ ความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก ดังนั้น ความไม่เป็นประชาธิปไตยกับปัญหาเศรษฐกิจ จึงเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และต้องได้รับการแก้ไข แต่การจะแก้ไขได้ต้องเปลี่ยนแปลงรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะร่วมมือกับพี่น้องประชาชนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐาน คือ รัฐธรรมนูญ ที่ควรมาจาก ส.ส.ร. ซึ่งมีที่มาจากประชาชน เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าต่อไป

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่านำมาซึ่งปัญหามากมาย จุดมุ่งหวังของพรรคเพื่อไทย หวังเห็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และจัดทำขึ้นเพื่อประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง ทั้งหมดคือเจตนารมย์ที่มีความมุ่งหมายอยากเห็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เริ่มต้นได้ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน

ภาพ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับป้ายลานโพธิ์ จากเฟซบุ๊ก Charnvit Kasetsiri
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ภาพถ่ายคู่กับป้ายลานโพธิ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมกับระบุว่า

“What went wrong with History in my poor country Thailand and Thammasat University? 55555

ฝากให้คณะผู้บริหารธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ฝากให้อาจารย์และนักศึกษาประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ครับ

ประโยคสุดท้ายของป้ายลานโพธิ์ ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ สร้างความเข้าใจผิดให้กับวิชาประวัติศาสตร์ของชาติ และราษฎรไทย ครับ

ทั้งนี้ ประโยคสุดท้ายคือ ลานโพธิ์เป็นสถานที่ชุมนุมคัดค้านการสืบทอดอำนาจของผู้นำกองทัพ จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่ยุติบทบาทของกองทัพในการเมืองไทยในที่สุด”

ภาพ ป้ายลานโพธิ์

ภาพ นายวันชัย สอนศิริ
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ทนายวันชัย สอนศิริ ระบุว่า

“ความชอบธรรมและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ...ใครจะชนะหลังเลือกตั้ง

ผู้มีอำนาจทางการเมืองทุกคนไม่มีใครที่จะยอมลงจากอำนาจด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด ดีที่สุด คนอื่นสู้เราไม่ได้ ประเทศนี้ขาดเราไม่ได้ แต่สถานการณ์ทางการเมืองจะกดดันบีบคั้นให้ผู้มีอำนาจเหล่านั้นต้องลงจากอำนาจ ทั้งลงสวยและไม่สวย บางคนติดคุกติดตะราง บางคนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ และบางคนถึงขั้นเสียชีวิต อำนาจมันหอมหวนยิ่งใหญ่และก็โหดร้ายทารุณ สถานการณ์ขณะนี้ ถ้าไม่นับเดือนธันวาคมและต้นเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็เหลือเวลาอีกเดือนเศษๆ ของการสิ้นสุดอำนาจและเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจ ระหว่างนี้เราจะได้เห็นการลาออกย้ายค่ายย้ายพรรคของ ส.ส.เป็นจำนวนมาก ใครจะอยู่ที่ไหนพรรคไหน ต้องเข้าที่เข้าทางกันในตอนนั้น แต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดต้องชัดเจนว่าจะยืนอยู่ซีกใด ยืนตรงไหนแล้วจะได้เป็นรัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจ อีแอบทางการเมืองจะต้องตัดสินใจกันแล้ว จะลับๆ ล่อๆ ต่อไปคงไม่ได้

เขาประเมินกันว่า ในสนามเลือกตั้งเพื่อไทยคงมาแรง คะแนนคงมานำ ตามด้วย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่นๆ แล้วเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือเปล่า...ก็ไม่แน่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกนายกฯ ในรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องร่วมกันเลือก เป็นอันว่าระหว่างบิ๊กตู่ บิ๊กป้อม และเพื่อไทย ใครจะมีเสียงมากกว่าใคร แล้วใครจะเป็นผู้ประสานให้ฝ่ายไหนได้เสียงมากกว่ากัน ฝ่ายเพื่อไทยจะอ้างความชอบธรรม ความชอบด้วยประชาธิปไตย แต่อีกฝ่ายจะอ้างความชอบด้วยกฎหมายความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการสู้กันระหว่างรัฐธรรมนูญและระหว่างประชาธิปไตย จะเป็นการคัดง้างกันทั้งในสภาและขัดแย้งกันนอกสภา ถ้าไม่มีใครยอมใคร วิกฤตการเมืองก็อาจเกิดขึ้นได้เหมือนหลายครั้งหลายโอกาสที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะเป็นการประท้วงชุมนุมเดินขบวน หรือปฏิวัติรัฐประหาร ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่ถ้ามีการประนอมอำนาจกัน ประสานความร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยประชาธิปไตย ไม่เอาชนะคะคานซึ่งกันและกัน ทุกพรรคทุกฝ่ายคำนึงถึงประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง และผู้มีอำนาจบางคนบางพวกอาจต้องปล่อยละวางบ้าง บ้านเมืองก็จะเดินไปได้ ผมหวังว่า น่าจะเป็นเช่นนั้น ทุกวันเสาร์ เวลา 19.00 น. มีสวดมนต์เจริญภาวนาที่วัดไก่เตี้ย จะทำให้ปล่อยวาง รู้จักลด ละ เลิก...”

แน่นอน, เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ และใกล้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ประชาชนเรียกร้อง หรืออยู่ในกระแสเรียกร้อง ถือว่า เป็นการ “หาเสียง” อย่างหนึ่ง ยิ่งการกำหนดเป็นนโยบายด้วยแล้ว ก็ยิ่งถือว่า ชูเป็น “จุดขาย” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เลยทีเดียว

สำหรับพรรคเพื่อไทย หลังจากปฏิเสธแบบ “แทงกั๊ก” ที่จะร่วมแก้ ม.112 กับพรรคก้าวไกลแล้ว ก็แทบไม่เหลือความเชื่อมั่นให้ฝ่ายประชาธิปไตยยอมรับได้เลย ดังนั้น การชูเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปิดประตูการ “รัฐประหาร” ก็ถือว่า เป็นสิ่งที่เหลืออยู่แทบจะหนึ่งเดียว

ส่วนจะฟื้นความเชื่อมั่นจากฝ่ายประชาธิปไตย กลับมาได้หรือไม่ ต้องจับตามอง ผลการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องตัดสิน


กำลังโหลดความคิดเห็น