xs
xsm
sm
md
lg

“นฤมล” ชี้ เถียงกันเรื่องค่าแรงขั้นต่ำฉาบฉวย ชูนโยบาย “สร้าง ยก ให้” ยกระดับทักษะฝีมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.นฤมล” ชี้ ค่าแรงบางอาชีพเกิน 600 บาทต่อวันอยู่แล้ว ตามมาตรฐานคุณภาพวิชาชีพ จึงไม่ควรถกเถียงกันเรื่องตัวเลขขั้นต่ำ เพราะฉาบฉวย ชูนโยบายด้านแรงงาน “สร้าง ยก ให้” มุ่งยกระดับทักษะแรงงานให้ตรงความต้องการของตลาด ให้โอกาสกลุ่มเปราะบาง และชุมชนเข้าถึงการพัฒนาฝีมือ

วันนี้ (9 ธ.ค.) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ Facebook ส่วนตัว ระบุถึงประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้างถึงเรื่องค่าแรง ซึ่งควรพิจารณาให้ดีว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ควรเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ซึ่งคงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันในหลายภาคส่วน ภายใต้เงื่อนไขว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือ สงครามการค้าจะทุเลาความขัดแย้งลง

เรื่องค่าแรง ปัจจุบันก็มีบางอาชีพที่ได้ค่าแรงเกิน 600 ต่อวันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาดแรงงาน ที่แรงงานคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เราไม่ควรจะถกเถียงกันที่ตัวเลขขั้นต่ำ เพราะมันฉาบฉวย แต่เราควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานให้ทักษะ มีฝีมือ มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรือ New S-curve

นโยบายด้านแรงงานที่ไม่ฉาบฉวย คือ “สร้าง ยก ให้” เพื่อเร่งพัฒนาคุณภาพฝีมือและคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

สร้าง
การสร้างคุณภาพของคนในชุมชน ด้วยการเตรียมความพร้อมทักษะฝีมือเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในช่วงเปราะบาง และต้องพยายามผลักดันคนในชุมชน เพื่อดันคนในชุมชนออกไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย(S-Curve) เพื่อให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ และหารายได้เสริม

ยก
การยกระดับแรงงานเป้าหมายให้เป็นแรงงานที่เป็นฐานเศรษฐกิจคุณภาพ ต้องยกระดับคนในแต่ละชุมชนให้มีความรู้และทักษะแรงงานตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

ให้
การให้โอกาสกับกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในแต่ละชุมชน เข้าถึงการพัฒนาฝีมือไม่ว่าจะด้านใดก็ตามให้เหมาะกับคนในชุมชนกลุ่มนั้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานได้

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่างๆ หากแรงงานมีทักษะ ก็จะมีทางเลือก มีอาชีพ และก็จะมีรายได้ที่สามารถจุนเจือครอบครัว ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท้ายสุดคือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวของคนไทยทั้งแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น