กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เชิญ นักศึกษามุสลิมที่ถูกติดตาม เชิญตัวช่วงเอเปกเข้าประชุม ด้านนักศึกษา ระบุ พบการติดตามกว่า 3 กรณี จนท. แจง ทำตามหน้าที่ภายใต้กฎหมายในพื้นที่ ตัวแทน นศ. ฝาก จนท. ทำงานให้ระมัดระวังมากขึ้น
วันนี้ (30 พ.ย.) คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้เชิญผู้แทนสมาพันธ์นักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมในการพิจารณาเรื่อง การปฏิบัติตามกฎหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจค้น และควบคุมกลุ่มนักศึกษา และนักกิจกรรม กรณีการเฝ้าระวัง และดูแลความสงบเรียบร้อยในการเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ครั้งที่ 29
นายรัมลี กูโนก ผู้แทนกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ ระบุว่า ตนเองถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามในวันที่ 8 พ.ย. 65 ซึ่งในวันนั้นเป็นวันที่ไปซื้อตั๋วเพื่อกลับบ้านในจังหวัดนราธิวาส ต่อมาวันที่ 13 พ.ย. 65 ก็มีเจ้าหน้าที่ประสานมาทางผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอเยี่ยมบ้าน จากนั้นในวันถัดไปมีทหารพรานมาที่บ้าน และมีการเชิญตัวไปที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 46 (ฉก.46) มีหมายค้นบ้าน ซึ่งภายหลังจากการเข้าตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายหรือสารเสพติด แต่ก็นำตัวไปที่ ฉก.46 และได้ซักถามถึงการทำกิจกรรมของนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงการประชุมเอเปก และซักถามถึงสาเหตุที่เดินทางกลับบ้าน รวมถึงความเกี่ยวข้องกับการป่วนการประชุมเอเปก โดยภายหลังจากการตรวจร่างกาย แล้วไม่พบสารเสพติดจึงได้ทำการปล่อยตัวออกมา ทำให้ตนเองเกิดข้อสงสัยจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
1. เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจใดในการตรวจค้น และอำนาจใดในการปฏิบัติหน้าที่ลักษณะนี้
2. เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจใดในการเชิญตัวไปที่ ฉก.46 ทั้งที่ตรวจค้นบ้านแล้วไม่พบสิ่งที่ผิดกฎหมาย
อีกทั้งยังมีข้อกังวลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้
1. ข้อมูลเกี่ยวกับโทรศัพท์ อาจถูกติดตามสัญญาณ ทำให้ขาดความเป็นส่วนตัว เพราะเจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์ไปด้วยขณะเชิญตัว
2. ฐานข้อมูลการถูกเชิญตัวครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิต การเดินทางในอนาคต
3. ภาพลักษณ์ที่สังคมมองต่อนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายฟิตรี อารง ผู้แทนกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ ระบุว่า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการนำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักในซอยรามคำแหง 53/1 และนำหมายศาลขอตรวจค้นมาแสดงด้วย แต่ตนเองเอะใจว่าทำไมหมายค้นไม่ได้ระบุมูลเหตุ ว่าเพราะอะไรถึงมาตรวจค้น ซึ่งขณะตรวจค้นก็เจอสารสีม่วง แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสารอะไร และถูกนำตัวไปที่กองบังคับการสืบสวน สอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 สน.หัวหมาก ซึ่งมีการซักถามข้อมูลเพิ่มเติม มีการเก็บดีเอ็นเอ พิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสิบนิ้ว ทั้งที่แจ้งว่าเราไม่ใช่ผู้ต้องหา ไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น ซึ่งก็เป็นอีกข้อกังวลว่าในเมื่อข้อมูลดีเอ็นเอถูกจัดเก็บแล้ว จะถูกนำไปใช้ในทางอื่นหรือไม่ อาจมีข้อมูลอยู่ในตำรวจ และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงหรือไม่ ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะนำดีเอ็นเอไปตรวจสอบเทียบกันกับสารเคมีสีม่วงที่พบในห้องพัก และหากจะรอหมายศาลเพื่อขอเก็บดีเอ็นเอก็ต้องรออีก 2-3 วัน ตนเองและเพื่อนๆ จึงยอมให้เจ้าหน้าที่เก็บไป
ด้าน นายมะกาดาฟี เจะบือราเฮง ผู้แทนสมาพันธ์นักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ระบุว่า เหตุการณ์ทั้งหมดแบ่งเป็น 3 ส่วน โดยในระหว่างนั้นก่อนเกิดเหตุ ทราบว่า มีเจ้าหน้าที่คอยติดตามอยู่ แต่มีการพูดคุยกันแล้ว ว่าเราไม่ใช่คนที่อยู่ในเป้าหรือเป็นที่จับตามอง เราพยายามแสดงความบริสุทธิ์ใจตลอด ทั้งการเข้าพบเจ้าหน้าที่ การยอมให้เข้าตรวจสอบ
พันเอก ชยพัทธ์ อนุชน รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรับผิดชอบในการเชิญตัวนักศึกษาไปที่ ฉก. 46 จังหวัดนราธิวาส ระบุว่า ผู้ปฏิบัติเป็นทหารพราน จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า โดยสาเหตุที่เชิญเนื่องจากว่าได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ว่าทางผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปค และการเชิญตัวหรือเข้าตรวจค้นในบ้านพักจังหวัดนราธิวาส อาศัยกฎอัยการศึก ปี 2457 ในมาตรา 8 ที่เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด ค้น ได้โดยไม่มีความผิด มีการบันทึกข้อมูลไว้ ในระหว่างการปฏิบัติการก็เชิญผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ไปเป็นพยานเพื่อความโปร่งใส แม้จะไม่พบหลักฐานแต่ก็มีข้อมูลมา ซึ่งต่อไปจะมีการเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากเจ้าหน้าที่รัฐ 30,000 บาท
พันตำรวจเอก สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ ผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 เจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเชิญตัวนักศึกษา 3 คนไปยัง สน.หัวหมาก ระบุว่า ตามแบบฟอร์มศาล การขอตรวจสอบข้อมูลในมือถือเขียนระบุไว้แล้ว โดยการเข้าตรวจค้นมีการวางแผนตรวจกันสัปดาห์เว้นสัปดาห์ และให้ศาลพิจารณาและออกหมาย ตรวจเข้มทุกจุด เราไม่ได้เลือกปฏิบัติ เจาะจง เราค้นทั้งหมด ทุกห้อง และใช้กฎหมายที่ศาลอนุญาตเท่าที่จำเป็น ขอยืนยันว่าเรามีการขอหมายค้น เน้นไปในสถานที่ และการตรวจสอบยาเสพติด
ด้าน พลตำรวจเอก ไกรวิทย์ อุณหก้องไตรภพ ผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 กล่าวถึงการที่นักศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าการติดตามดังกล่าว ว่า ไม่ใช่การติดตาม อยากให้ใช้คำว่าการเยี่ยมเยียนมากกว่า เพราะเป็นงานที่ปฏิบัติตามปกติ
พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ระบุว่า หน่วยงานของรัฐต้องยึดถือหลักปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ต้องมีกฎหมายรองรับในการปฏิบัติภารกิจ การข่าวอันนี้ถือว่าไม่เฉียบ ข้อมูลยังไม่แน่นพอ ต้องไปทบทวนหน่วยงานด้านการข่าว ด้านกลุ่มที่นักศึกษามาร้องเรียน ต้องเข้าใจว่าถูกคุกคาม การให้เงินเยียวยาไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ไม่ใช่คำตอบ สิ่งที่ท้าทายคือรัฐต้องทำอย่างไรไม่ให้การเฝ้าระวังเรื่องความมั่นคงของรัฐไม่เป็นการคุกคาม ส่วนเรื่องการเยี่ยมเยียนนั้น ไม่เอาความรู้สึกของผู้ปฏิบัติเป็นหลัก ต้องเอาความรู้สึกผู้ที่ถูกปฏิบัติเป็นหลัก
ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการจบลง ผู้สื่อข่าว The Reporters สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับกลุ่มนักศึกษาว่าอยากฝากอะไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้หรือไม่
“เราคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องเผชิญเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาตลอด ซึ่งปฏิเสธความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้ อยากฝากถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ ให้รอบคอบมากขึ้น อย่าอ้างความมั่นคงของรัฐ เพราะมันเกิดความเสียหายหลายแง่มุมถึงตัวนักศึกษา และมหาวิทยาลัย” นางสาวสุณิสา โตะวี กล่าวทิ้งท้าย