xs
xsm
sm
md
lg

“สถิตย์” ติงออก กม.ต้องผ่านความเห็นชอบสองสภา ตามหลักการถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.สถิตย์” ติงการออกกฎหมายต้องผ่านความเห็นชอบของทั้งสองสภา ตามหลักการถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ แนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติต้องให้วุฒิสภาเห็นชอบด้วย

วันนี้ (29 พ.ย.) ในการประชุมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก พ.ศ. .... โดยมีหลักการนำกฎหมายและกฎในเรื่องเดียวกันหรือที่เกี่ยวข้องกันมารวมไว้ในแหล่งเดียวกัน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดทำประมวลกฎหมาย หรือเพื่อประโยชน์ในการสืบค้น ซึ่งมีผลใช้บังคับแทนที่กฎหมายและกฎที่นำมารวบรวมนั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและสืบค้นกฎหมายได้โดยสะดวก ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายในเรื่องนี้ ว่า หลักการสำคัญประการหนึ่งของกฏหมาย คือ บุคคลเสมอภาคกันตามกฎหมาย หลักการที่เคียงคู่กันมา คือ ทุกคนต้องรู้กฎหมาย โดยจะมีใครอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ จึงต้องหาหนทางที่จะ ทำให้ข้อสันนิษฐานนี้ เป็นจริง การมีร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้โดยสะดวก โดยนำหลักการในกฎหมายต่างๆ ที่มีเนื้อความอย่างเดียวกัน มาจัดรวมเป็นระบบ มีลักษณะเป็นหมวดหมู่ และรวมถึงการจัดทำอนุบัญญัติ หรือกฎหมายระดับรองด้วย เรียกว่าประมวลกฎหมายและกฎ จึงเป็นการตอบสนองให้ประชาชนซึ่งสันนิษฐานว่าต้องรู้กฎหมาย สามารถเข้าถึงและเข้าใจกฎหมายได้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นการรวมกฎหมาย โดยไม่เปลี่ยนหลักการเดิม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงมีความสำคัญและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม หลักการของปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภาของประเทศไทย มีหลักการในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ในส่วนของนิติบัญญัติยังมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยเฉพาะทางด้านนิติบัญญัติที่วุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ปรากฏว่าในมาตรา 39 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่บัญญัติว่า “…เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎที่คณะกรรมการนโยบายเสนอแล้ว ให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎที่เสนอมานั้น ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎตามวรรคหนึ่ง ให้รอการนำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยไว้สามสิบวัน” โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา ซึ่งเป็นการขัดกับหลักรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้งานด้านนิติบัญญัติต้องผ่านความเห็นชอบของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ จึงเสนอแนะให้มีการปรับปรุงเพื่อให้มีการแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองสภา โดยแก้ไขให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ต้องเสนอให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อไปด้วย

ในการนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีผู้นำเสนอร่าง ได้รับข้อเสนอและเห็นด้วยในการที่จะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ในชั้นแปรบัญญัติร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น