รมต.สำนักนายกฯ ชี้ ภาคการเกษตรช่วยสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ย้ำ ผู้บริหารชัยนาทเร่งหาแนวทางสนับสนุน ดันโครงการ “โคเนื้อสายพันธุ์เจ้าพระยาบีฟ” หนทางสร้างรายได้ใหม่ชาวชัยนาท
วันนี้ (28 พ.ย.) เวลา 09.30 น. ณ ศาลากลางจังหวัดชัยนาท นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมคณะกรมการจังหวัดชัยนาท และ หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดชัยนาท ครั้งที่ 11/2565 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมี นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนสมาคม ผู้แทนชมรมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท เข้าร่วมประชุมด้วย
.
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงานผลการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ สถานการณ์การเงินการคลังในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งพบว่าภายหลังที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 รองลงมาคือ ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานผลการพัฒนาพันธุ์โคเนื้อของจังหวัดชัยนาท หรือโคเนื้อสายพันธุ์เจ้าพระยาบีฟ โดยตั้งเป้าเป็น “โคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” มีความโดดเด่นที่เนื้อโคมีความนุ่ม อุ้มน้ำ ไขมันแทรกสูง เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตตั้งเป้าเป็นแนวทางการพัฒนาอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้ประชาชน ปัจจุบันมีประชาชนร่วมโครงการกว่า 2,000 ครัวเรือน ใช้เวลาในการขุนเพียง 3-6 เดือน สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยตัวละ 11,000 บาท
.
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาทคือภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ แม้จะไม่ใช่ตัวเลข GDP หลักแต่ก็มีความสำคัญ เพราะเป็นกลุ่มที่หล่อเลี้ยงคนจำนวนมากของประเทศ และทำให้ฐานการค้าการลงทุนโดยเฉพาะระดับฐานรากมีความเข้มแข็ง จังหวัดชัยนาท มีความโดดเด่นด้านการเกษตร โดยมีผลผลิตหลัก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น ในส่วนของแนวทางการส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโคเนื้อสายพันธุ์เจ้าพระยาบีฟ ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางในการสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้คณะผู้บริหารในพื้นที่ร่วมกันหาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนภาคการเกษตร ดึงจุดเด่นของจังหวัด สร้างให้เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่เพื่อดึงดูดเม็ดเงินและนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนทั่วทั้งจังหวัดต่อไป