กลุ่มชาติพันธุ์ แม่ฮ่องสอน ชีวิตสุดแฮปปี้ ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีที่ทำกินมั่นคง หลังเข้าเรียนรู้จากศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษา และคณะอนุกรรมการ เดินทางไปยังโครงการศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยคณะได้รับฟังบรรยายสรุปขณะนั่งรถรางบนเส้นทางการท่องเที่ยวในโครงการ พร้อมเยี่ยมชมฐานเรียนรู้ด้านพืชของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน ฐานเรียนรู้ด้านป่าไม้ของโครงการธนาคารฟืนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และชมการดำเนินงานฐานเรียนรู้ด้านป่าไม้ ในกิจกรรมการเพาะชำกล้าไม้ ประกอบด้วย ไม้ใช้สอย ไม้มีค่า ธนาคารฟืน อาทิ ฟืนอัดแท่ง น้ำส้มควันไม้ และฐานเรียนรู้ด้านไฟป่า ในกิจกรรมการป้องกันไฟป่า ตลอดถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันจากไฟป่า ซึ่งพบว่าการดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี กิจกรรมต่างๆ สามารถพัฒนาต่อยอดและขยายผลสู่เกษตรกรให้มีความเป็นอยู่อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป
จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีที่ราบน้อย การเดินทางไม่สะดวก ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยและชาติพันธุ์ชนเผ่าต่างๆ อาทิ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง มูเซอ ลีซอ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงจะดำรงชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอยและย้ายถิ่นไปตามพื้นที่ทำกิน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีความห่วงใยในการดำรงชีพ ของราษฎรเหล่านี้ พระองค์พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาอาชีพของราษฎร” ขึ้นในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการทำกินที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เพื่อให้ราษฎรเข้ามาเรียนรู้นำไปประกอบอาชีพมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โครงการศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นศูนย์บริการและพัฒนา 1 แห่ง ในจำนวน 4 แห่ง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นในปี 2522 ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปายตอนล่าง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปาย โดยศูนย์ได้ดำเนินกิจกรรมตามแนวพระราชดำริ ลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรและการพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการระดับจังหวัด หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันดำเนินงานในลักษณะบูรณาการโดยมีศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ เป็นศูนย์กลางในการประสานการดำเนินงานต่างๆ
น.ส.กัลยา สร้างแผ่นผา ประธานกลุ่มวิสาหกิจอนุรักษ์วิถีกะแยงบ้านห้วยเสือเฒ่า หมู่ที่ 8 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชนเผากะเหรี่ยงแดง เปิดเผยว่าราษฎรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ชนเผ่ากะเหรี่ยงแดง ซึ่งจะเรียกตัวเองว่ากะแยง เมื่อก่อนทำไร่เลื่อนลอยต้องถางป่าโค่นต้นไม้เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกทุกปี ส่วนใหญ่ปลูกข้าวและผัก หลังจากมีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงวิธีทำการเกษตรจากศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ ได้นำความรู้มาปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองโดยใช้พื้นที่เดิมปลูกข้าวและพืชผักแบบหมุนเวียน ไม่บุกรุกถางป่าเพิ่มเติมเช่นที่ผ่านมา
“เราได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อว่ากลุ่มวิสาหกิจอนุรักษ์วิถีกะแยงบ้านห้วยเสือเฒ่า เพื่อร่วมกันต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกในพื้นที่ของแต่ละคน เช่น พริก งา ที่ผลผลิตเกรดไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการขายไม่ได้ราคาก็นำมาแปรรูป ตอนนี้มีอยู่ 3 ชนิด คือ ซีเรียลบาร์พริก ผลิตภัณฑ์ธัญพืชพริก และข้าวเกรียบพริก ขายดีมีวางจำหน่ายในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ทำให้ไม่ต้องบุกรุกป่าเพิ่มเหมือนเมื่อก่อน และร่วมกันปลูกไม้ใหญ่เพื่อให้เป็นป่าธรรมชาติคลุมหน้าดินรักษาหน้าดิน เวลาการปลูกข้าวหรือปลูกผักผลผลิตจะได้ดี และมีการรณรงค์ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกด้วย”
ด้าน นายอังคาร กระจายทรัพย์ หนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ด้วยการเข้าเรียนรู้ด้านป่าไม้ จากฐานเรียนรู้ของโครงการธนาคารฟืน เกี่ยวกับการผลิตเชื้อเพลิงอย่างมีคุณภาพ เช่น การเผาถ่าน การเผาผลไม้ดูดกลิ่น การทำถ่านอัดแท่ง เปิดเผยว่า ได้นำความรู้ที่ได้รับจากศูนย์ฯ ตั้งแต่การสร้างเตาเผาถ่านที่ให้ได้ถ่านคุณภาพไปจนถึงการนำทุกส่วนของถ่านมาสร้างรายได้
“คุณภาพถ่านที่เราผลิตตรงกับความต้องการของตลาด เป็นถ่านจากไม้กระถินเทพาและกระถินยักษ์ สามารถจำหน่ายได้หมดทุกครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นร้านขายหมูกระทะที่เข้ามารับซื้อเป็นประจำ ไม้ทั้ง 2 ชนิด ที่นำมาเผาถ่านเป็นไม้โตเร็วที่ปลูกในโครงการ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่สมาชิกร่วมกันปลูกในพื้นที่ของแต่ละคน” นายอังคาร กล่าว
ทั้งนี้ ภายในศูนย์บริการมีกิจกรรมฐานการเรียนรู้ด้านต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างครบวงจร มีผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานทั้ง 9 ฐานการเรียนรู้ ครอบคลุมทั้งในด้านการพัฒนาทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดิน ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้านการเกษตรและพัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ ด้านการประมง ด้านปศุสัตว์ ให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงาน และได้พัฒนาส่งเสริมเกษตรกรต้นแบบ นอกจากนี้ มีหน่วยงานร่วมบูรณาการส่งเสริม ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ในด้านบัญชีและสหกรณ์ ด้านงานโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็น (งานสิ่งก่อสร้าง งานไฟฟ้า)