xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ปลื้ม นักวิจัยไทยคว้ารางวัล Grand Prize และเหรียญรางวัลจากงาน Seoul International Invention Fair 2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกฯ ปลื้ม นักวิจัยไทยคว้ารางวัล Grand Prize และเหรียญรางวัลจากงาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

วันนี้ (23 พ.ย.) นายอนุชา บรูพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้ทราบว่า ทีมนักประดิษฐ์ และนักวิจัยไทย สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ คว้ารางวัล Grand Prize จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน “Seoul International Invention Fair 2022” (SIIF 2022) ที่จัดขึ้นโดย Korea Invention Promotion Association (KIPA) เมื่อวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลงานของนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัล Grand Prize มี 2 ผลงาน ได้แก่ “ห้องความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เพื่อใช้เป็นห้อง ICU ในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ เป็นนวัตกรรมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดในสถานการณ์โควิด-19 และ 2. ผลงานเรื่อง “หลังพร้อม” จาก โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม โดย ด.ช.พิชชากร อรพิมพันธ์ ด.ญ.พัทธ์ธีรา อรพิมพันธ์ ด.ญ.พัทธวรรณ พิบูลธรรม และ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์ผู้มีปัญหาการนั่งผิดท่า เพื่อช่วยแก้ปัญหาอาการ ปวดหลัง และ ออฟฟิศซินโดรม ใช้ร่วมกับแอพพลิเคชั่น Oh My Back!

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลอีก 3 รายการ ในประเภท Special Prize on stage จากองค์กร International Federation of Inventors’ Associations (IFIA) ได้แก่ ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกนิ้วมือจากภายนอกแบบขยับได้” โดย ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง จิรายุ เอื้อวรากุล,นพ.เตมิพงศ์ พ่อค้า และ ดร.ทศพร เฟื่องรอด จาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ Taiwan Invention Association (TIA) มอบรางวัลให้แก่ผลงานเรื่อง “หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต” โดย ว่าที่พันตรี วัชรพล ลักษณ์ลม้าย นายนิวัตร ศรีคำสุข และคณะ จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา รวมทั้ง Korea Fire Institute มอบรางวัลให้แก่ ผลงานเรื่อง “ระบบวิเคราะห์ไฟฟ้าตามเวลาจริง” โดย นายอาทร ศรีอัจฉริยะ และคณะ จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ นักประดิษฐ์ และ นักวิจัยไทย สามารถคว้าเหรียญรางวัลจาก SIIF 2022 ในหลายประเภท ได้แก่ เหรียญทอง 27 ผลงาน เหรียญเงิน 10 ผลงาน เหรียญทองแดง 25 ผลงาน พร้อมด้วย Special Prize อีกเป็นจำนวนมาก

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสำเร็จของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยไทย สามารถคว้ารางวัล มาได้หลากหลายประเภท จากงาน SIIF 2022 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักประดิษฐ์ และนักวิจัยของไทย มีศักยภาพที่จะแข่งขันในเวทีระดับโลก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยทุกคน และขอบคุณนักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ช่วยกันประดิษฐ์คิดค้น สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น