xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CMICe)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว “ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Chula Medical Innovation and Entrepreneurship Center: CMICe (ซี-ไมซ์) พร้อมทั้งจัดการเสวนาหัวข้อ “Innovation Development: From Idea to Prize and Price” และหัวข้อ “Academic Transformation; From Research to Entrepreneurship” 

โดยมี คุณศักดิ์ชัย บัวมูล ที่ปรึกษาประจำสำนักประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด คุณพรหมพร สิ้นโศรก ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ตลาดธุรกิจปิโตรเคมี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) คุณอุฬาร อภิรูปากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพ็นต้า อิมเพ็กซ์ จำกัด นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุเฌ้อสเซอรี่โฮม เข้าร่วมการเสวนา นอกจากนี้ ภายในงานมีกิจกรรมแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์ Medical Innovation for Society Booth โดยทีมนวัตกรเพื่อสังคมแห่งอนาคต ณ โถงอาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยที่เน้นนวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม “Innovations for Society” หากสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีคุณค่าต่อสังคม แต่คุณค่าจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อผลงานได้ถูกนำไปใช้จริงและก่อให้เกิดประโยชน์ ในปัจจุบัน Medical Innovation หรือนวัตกรรมทางการแพทย์มีความสำคัญมากในการต่อยอดเพื่อรักษาผู้ป่วย ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงมุ่งผลักดันนวัตกรในการสร้างสรรค์ต่อยอดผลงานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากหิ้งสู่ห้างไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและเชิงพาณิชย์ต่อไป

ทางด้าน ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร เผยว่า ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการเป็นองค์กรชั้นนำด้านการประกอบการนวัตกรรมทางการแพทย์ระดับประเทศและนานาชาติ ยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาจากบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้เป็นที่ยอมรับ สร้างมูลค่าและผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน นอกจากนี้ ส่งเสริม ผลักดันการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมแบบบูรณาการ เพื่อให้ได้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือการบริการทางการแพทย์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประดิษฐ์และตอบโจทย์ต่อผู้บริโภค โดยความร่วมมือและการสนับสนุนทั้งทางภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

ในด้านผลงานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์ ของศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ
มีผลงานที่นำไปใช้ต่อผู้ป่วยได้จริงแล้ว เช่น หมอนพักพิง (PAKPING) หมอนช่วยลดอาการกรดไหลย้อนขณะนอน ออกแบบรองรับสรีระของผู้ใช้ เพื่อคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น และอาหารเสริมต้านนิ่วในปัสสาวะ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปของสารละลายเข้มข้นบรรจุซอง โดยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนี้จะมีปริมาณซิเตรทสูง เพื่อเพิ่มปริมาณการขับออกของซิเตรทในปัสสาวะ และช่วยทำให้ปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้น สารต้านอนุมูลอิสระ Alpha-lipoic acid (ALA) และสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลีฟีนอลจากสมุนไพรธรรมชาติ ได้แก่ น้ำต้นแกนกล้วย อัญชัน และฝาง เพื่อลดภาวะเครียดจากออกซิเดชันในผู้ป่วย อีกทั้งทำให้ผู้ป่วยได้รับน้ำมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาตรปัสสาวะ เป็นต้น

“สำหรับทิศทางในอนาคตของศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการนั้น มีความตั้งใจในการพัฒนาองค์ความรู้ให้ครอบคลุมทุกสหสาขาวิชาทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ เปลี่ยนความสุขจากความสำเร็จให้เป็นรายได้นำไปสร้างมูลค่า เพิ่มศาสตร์งานด้านธุรกิจให้แก่ประเทศต่อไป” ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร กล่าว

ผู้ที่สนใจหรือองค์กรต่างๆ ที่มีความสนใจปรึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ ของศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 09-2480-8907 หรืออีเมล cmic.chula@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น